DCA ท่าไม้ตายของนักลงทุนระยะยาว
การประชุม FOMC ในเดือนกันยายน 2023 ออกมาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 5.25-5.50% ตาม Forward Guidance ของทางนายเจอโรม พาวเวล ทั้งนี้ความกังวลใจของนักลงทุนอยู่ที่ รายงาน Fed Projection ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายของปี 2024 – 2025 อีก 0.5% สู่ 5.1% และ 3.9% ตามลำดับ ซึ่งเป็นสถานการณ์ตามที่ LH Bank Advisory คาดไว้ ทั้งนี้ การเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจาก Goldilocks สู่ Stagflation กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อสูงเป็นเหตุให้อัตราดอกเบี้ยไม่สามารถปรับลดลงมาโดยง่าย ถือเป็นแรงกดดันอย่างมากต่อสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยสูงและยาวนานกว่าที่ทุกคนได้คาด เป็นเหตุให้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ไร้ความเสี่ยง (Risk free rate) อยู่ในระดับสูง ส่งผลเชิงลบต่อมูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาในภาพ Real Sector กำลังประสบปัญหา เพราะภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้การขยายตัวของรายได้และการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ที่ผ่านมานั้น ได้รับอานิสงส์ของต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำ และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ (QE) เป็นที่มาของกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง จนผลตอบแทนของหุ้นบริษัทเทคฯ สามารถเติบโตอย่างโดดเด่น หากแต่สภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่ดอกเบี้ยสูงและยาวนาน เริ่มส่งผลต่อปริมาณสภาพคล่องของบริษัท และอุปสรรคต่อการก่อหนี้เพื่อการลงทุนมากขึ้น ทำให้บริษัทมีการรัดเข็มขัดควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งเหมารวมการปรับลดงบการศึกษาและพัฒนาของกลุ่มเทคฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้ สะท้อนไปที่ภาพ 1.1 ที่ปริมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (CAPEX) มีแนวโน้มลดลง กดดันอัตราการเติบโตของรายได้กลุ่มหุ้นเทคฯ อย่างไรก็ตามทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าหลังจากนี้ตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Megatrend เผชิญความผันผวน และถือเป็นโอกาสสำคัญแก่นักลงทุน ให้สามารถทยอยสะสมเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงในยามเศรษฐกิจฟื้นตัว ดังนั้นนักลงทุนที่มองหาโอกาสการลงทุน อาจจะเลือกใช้วิธีการลงทุนแบบ Dollar cost average (DCA) ที่มีจุดแข็ง คือ การลงทุนแบบมีวินัยด้วยการลงทุนต่อเนื่อง สามารถกำหนดเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส และมีการถัวเฉลี่ยต้นทุน เพราะมีการเข้าซื้อในจำนวนเท่าๆ กัน อย่างสม่ำเสมอ โดยการถัวเฉลี่ยนี้ถือเป็นการเฉลี่ยความเสี่ยงให้แก่พอร์ตการลงทุน ทำให้ต้นทุนของสินทรัพย์ไม่สูง จากรูปที่ 2 ทางเราจัดทำสถานการณ์จำลองพอร์ตการลงทุน เพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุน ในรอบ 20 ปี เงินลงทุน 20,000 บาทต่อครั้ง และแบ่งกลยุทธ์การลงทุน เป็นการถือเงินสด เทียบกับการจับจังหวะลงทุน (Timing) และ DCA พบว่า การลงทุน DCA นั้น ให้ผลตอบแทนเป็นรองเพียงการลงทุนที่จับจังหวะได้แม่นยำเท่านั้น ทั้งนี้นักลงทุนที่สามารถจับจังหวะได้แม่นยำในทุกช่วงตลาด มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงที่สุด แต่ความเป็นจริงนั้นการจับจังหวะได้แม่นยำอาจจะทำได้ยากลำบาก เพราะนักลงทุนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญสูง และมีการลงทุนต่อเนื่องอย่างมีวินัย ประกอบกับการติดตามตลาดเป็นประจำ เป็นเหตุให้นักลงทุนที่ไม่เชี่ยวชาญต้องเผชิญความผันผวนของตลาดในระยะสั้น ๆ จนเสี่ยงที่จะเกิดแรงกดดันในการบริหารพอร์ตลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม จากรูปที่ 2 ได้สะท้อนเช่นกันว่าการลงทุนแม้จับจังหวะไม่แม่นยำยังสามารถสร้างมูลค่าเงินออมได้สูงกว่าการที่นักลงทุนไม่ได้ทำการลงทุนเลยเสียอีกด้วย
Is gold price going bullish or bearish? ราคาทองคำเคลื่อนไหวในรูปแบบ Sideway down ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ที่ปรับตัวขึ้น ขานรับตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ สำหรับการประชุม FOMC ที่ผ่านมา เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาด และมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในปีนี้ ขณะที่จาก Dot Plot จะมีการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2024 ซึ่งเป็นอัตราการลดที่น้อยกว่า Dot Plot จากการประชุมรอบก่อนอย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังคงประคองตัวไปได้ด้วยผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีประมาณ 5% จากวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ทำให้ Bond Yield จะปรับตัวลงจากระดับปัจจุบัน Gold ETF มีสถานะขายสุทธิตั้งแต่ต้นปี 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย fund flow ไหลออกจาก Gold ETF เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแนวโน้มของเงินเฟ้อ Headline CPI ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 3.7%YoY ในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6%YoY แต่ Core CPI ได้ลดลงสู่ระดับ 4.3%YoY ในเดือนส.ค. จาก 4.7% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งแม้เฟดจะมีมุมมอง Hawkish Tone มากขึ้น แต่ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าหลังจากราคาทองคำเผชิญแรงขายจากการที่เฟดจะคงดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่ตลาดคาด จะเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าทยอยสะสม เนื่องจากหากพ้นแรงกดดันดังกล่าว ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดทองคำมากขึ้น ผลสำรวจของ Invesco พบว่า 68% ของธนาคารกลางถือทองคำในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 50% จากปี 2020 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 74% ใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ประกอบกับกระบวนการ De-Dollarization ซึ่งหมายถึงความพยายามของประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ ทำให้แนวโน้มการถือครองทองคำของธนาคารกลางต่างๆ สูงขึ้น โดยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สกุลเงินดอลลาร์มีสัดส่วนประมาณ 70% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นสกุลเงิน ลดลงเหลือ 58% ณ สิ้นปี 2022 ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าแม้ราคาทองคำจะถูกกดดันด้วย Bond Yield ที่อยู่ในระดับสูง แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ใกล้จุดสูงสุดจะลดแรงกดดันทั้งในเรื่องของการปรับตัวขึ้นของ Bond Yield และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นแรงหนุนต่อราคาทองคำ โดยแนะนำกองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ (SCBGOLDH) ซึ่งมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาทองคำแท่งผ่านการลงทุนใน SPDR Gold Trust ที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในวัฎจักรเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง สำหรับแนวโน้มราคาทองคำมีโอกาสกลับมาทำสถิติสูงสุด (All Time High) อีกครั้ง หลังเฟดส่งสัญญาณยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น
Announcement on 25 September 2023