Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 11-09-2023

Wealth Weekly Report 11-09-2023
 

SELECTIVE BUY
  • สัญญาณเข้าสู่ Dollar Doom Loop หลังนักลงทุนกังวลใจกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเริ่มเข้าถือเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Heaven) มากขึ้น โดยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ส่งผลเชิงลบต่อสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เราคัดสรรกลยุทธ์การลงทุนแบบ Selective Buy ไปกับสินทรัพย์เสี่ยงที่มีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว อย่าง อินเดีย และเวียดนาม ที่เศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มขยายตัว รวมถึงกระจายการลงทุนตลาดตราสารหนี้ล็อกผลตอบแทนระดับสูงและรับอานิสงส์ของการสิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น
  • จาก Bloomberg Consensus คาดว่าเวียดนามจะเติบโตได้ถึง 5% ในปี 2023 และ 6.5% ในปี 2024 แม้ว่า GDP ในครึ่งปีแรกจะเติบโตเพียง 3.7% ดังนั้นคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ สำหรับข้อกังวลเรื่องการส่งออกที่หดตัวนั้น เริ่มมีสัญญาณบวกจากการส่งออกที่ขยายตัวเฉลี่ย 4.9%MoM ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สำหรับ Forward P/E ratio ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 12.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ระดับ 13.6 เท่า ถือว่า Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ
  • กองทุนที่น่าสนใจ ดังนี้ : กองทุนเปิด แอล เอช เวียดนาม (LHVN) กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (PRINCIPAL VNEQ-A) กองทุนเปิดเคแทม อินเดีย อิควิตี้ ฟันด์ (KT-INDIA) และกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ยูเอส แอกกริเกท บอนด์ ฟันด์ (MUBOND)

TOPIC FOCUS

Dollar Doom Loop

มุมมองตลาดบ่งชี้แนวโน้มของทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะสิ้นสุดวัฏจักรขาขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดการชะลอตัว สะท้อนไปที่อัตราการว่างงานที่ปรับขึ้นสู่ระดับ 3.8% ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหลายประเทศ อย่าง เยอรมนี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอย ฉุดการเติบโตของยูโรโซน และการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอ่อนตัวลงจากปัญหาหนี้อสังหาฯ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่สดใสในช่วงสุดท้ายของปีมากนัก จนสร้างความกังวลใจแก่นักลงทุนและเริ่มเข้าถือเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Heaven) มากขึ้น      

ทาง LH Bank Advisory ประเมินการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะ Safe Heaven รอบนี้ อาจไม่ได้เป็นการเร่งตัวจนทำจุดทดสอบใหม่ แต่ส่งสัญญาณเข้าสู่ Dollar Doom Loop (วงจรกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก) โดยหลังจากการปรับขึ้นของดอลลาร์ ได้เกิดสถานการณ์การชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการบริการในหลายประเทศตามมา และผลสืบเนื่องไปยังการค้าขายระหว่างประเทศลดลง นักลงทุนจะกลับมากังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนจึงเพิ่มน้ำหนักถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ วนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ขณะที่การหาทางออกจากวงจร Dollar Doom Loop ในครั้งนี้อาจจะยากลำบาก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภายใต้ค่าเงินดอลลาร์ที่สูง เป็นเหตุกดดันธนาคารกลางหลายประเทศทำการแทรกแซงค่าเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพ จนทำให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา อย่าง จีน และ ญี่ปุ่น ที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อแทรกแซงค่าเงินอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ส่งผลเชิงลบต่อสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เราคัดสรรกลยุทธ์การลงทุนแบบ Selective Buy ไปกับสินทรัพย์เสี่ยงที่มีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว 

  • เลือกลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มขยายตัว อย่าง อินเดีย แม้เมื่อเปรียบเทียบมูลค่า Shiller Cape พบว่าตลาดอยู่ในโซนที่มีมูลค่าสูงกว่าหลายตลาด ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นในระดับ ปีละ 6-7% จึงขับเคลื่อนให้รายได้บริษัทจดทะเบียนในประเทศขยายตัวได้ อีกทั้งด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีต่อกับสหรัฐฯ และจีน จึงดึงดูดกระแสเงินไหลเข้าในสินทรัพย์ลงทุน และการลงทุนโดยตรง (FDI) ในระยะยาว สะท้อนไปที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Manufacturing PMI) ที่ขยายตัวเหนือระดับ 50 จุด ขณะที่สกุลเงินรูปีรับอานิสงส์สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ ทำให้แรงกดดันส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสกุลเงินท้องถิ่นกับสหรัฐฯ คลี่คลายขึ้น กองทุนแนะนำ KTAM India Equity Fund (KT-INDIA-A)
  • กระจายการลงทุนตลาดตราสารหนี้ล็อกผลตอบแทนระดับสูงและรับอานิสงส์สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดประเมินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีแรกของ 2024 ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Bond Yield) ปรับตัวลงเล็กน้อย ขณะที่ทางเราประเมินว่าแรงกดดันภายใต้เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่เหนือเป้าหมาย อาจจะยังมีแรงส่งให้ Fed ยังเลือกดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในระดับสูง สำหรับนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนประเภท Fixed Income ให้ทยอยเข้าสะสมในพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ระดับ Investment grade ขึ้นไป กองทุนแนะนำ MUBOND-A Fixed Income Fund

Vietnam: Recovery Ahead!

ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวขึ้นประมาณ 20% ตั้งแต่ต้นปี แม้ว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกจากตลาดเวียดนามประมาณ 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากค่าเงินดองมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางของเวียดนามมีการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติมีการขายเพื่อทำกำไรหลังจากตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทาง LH Bank Advisory ได้ประเมินมุมมองต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนาม ดังนี้

  • การส่งออกที่หดตัว YoY ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นั้น เริ่มมีสัญญาณบวกจากการส่งออกที่ขยายตัวเฉลี่ย 4.9%MoM ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มจะกลับมาเป็นบวก YoY ได้ในไตรมาสที่ 4 จากฐานที่ต่ำ รวมถึง PMI ในภาคการผลิต ที่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 มีแนวโน้มที่ค่อยๆ ฟื้นตัว โดยมีแรงหนุนจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.6%YoY ในเดือนสิงหาคม ส่วนเงินไหลเข้าจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนาม ขยายตัว 8.2%YoY ใน 8 เดือนแรกของปีนี้ สะท้อนการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนไปยังเวียดนามมากขึ้น
  • ยอดค้าปลีกมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น (+7.6%YoY ในเดือนสิงหาคม) จากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 7.8 ล้านคน ใน 8 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งใกล้บรรลุเป้าหมายทั้งปีที่ 8 ล้านคน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 47% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
  • ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อยๆ คลี่คลาย โดยในส่วนของภาคสินเชื่อนั้น แม้ว่า NPLs ของธนาคารหลัก 25 แห่งจะเพิ่มขึ้นจาก 1.9% ในไตรมาส 1 เป็น 2.1% ในไตรมาส 2 โดยธนาคารต่างๆ ของเวียดนามมีการปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหาฯ มีสัดส่วนราว 20% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ ดังนั้น NPLs ของภาคอสังหาฯ ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ และเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ 
  • ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 2.96%YoY ในเดือนสิงหาคม โดยราคาส่งออกข้าวของเวียดนามแตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ หลังอินเดียระงับส่งออกข้าวจากสถานการณ์เอลนีโญเพื่อรองรับตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 4.5% ส่งผลให้ธนาคารกลางของเวียดนามยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing Rate) ในปีนี้จาก 6% สู่ระดับ 4.5%

จาก Bloomberg Consensus คาดว่าเวียดนามจะเติบโตได้ถึง 5% ในปี 2023 และ 6.5% ในปี 2024 แม้ว่า GDP ในครึ่งปีแรกจะเติบโตเพียง 3.7% ดังนั้นคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ สำหรับ Forward P/E ratio ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 12.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ระดับ 13.6 เท่า ถือว่า Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยแนะนำกองทุน แอล เอช เวียดนาม (LHVN) และกองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (PRINCIPAL VNEQ-A) ซึ่งเป็นกองทุนเวียดนามที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต เพื่อรับโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจที่เป็นห่วงโซ่อุปทานสำคัญของโลก

Weekly Report 11-09-2023

Announcement on 11 September 2023

Related articles