Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 15-05-2023

Wealth Weekly Report 15-05-2023
 

มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์

เอลนีโญ่ คือปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นและแล้งจัด ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพืชพันธุ์การเกษตรที่พึ่งพาน้ำ อย่าง อ้อย จนสร้างผลพ่วงไปยังอุปทานน้ำตาลโลกปรับลดลง เป็นเหตุให้ในเวลานี้ แนวโน้มราคาน้ำตาลโลกมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 2016 ซึ่ง บราซิล เป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์ของราคาน้ำตาล และสภาพอากาศที่บราซิลรับผลของเอลนีโญ่ไม่รุนแรงเท่าประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรเท่าที่อื่นๆ

และจากผลกระทบสภาพอากาศที่เลวร้ายก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาอาหารปรับสูงขึ้น ซึ่งสหราชอาณาจักรกำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อระดับสูง จากความขาดแคลนอุปทานอาหารสด ดังนั้นด้วยแนวโน้มของเงินเฟ้อยังคงถูกกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรก็เข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลของอัตราดอกเบี้ยสูง จึงเป็นเหตุให้ต้องออกนโยบายทางการคลังเข้ามาเพิ่มสภาพคล่องเพื่อประคับประคองระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทาง LH Bank Advisory แนะนำนักลงทุนหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในดัชนีหุ้นยุโรป ขณะที่นักลงทุนในระยะยาวสามารถทยอยสะสม เนื่องจากมูลค่าของดัชนียุโรปอยู่ในระดับที่ถูก

HOT ISSUE TO WATCH THIS WEEK

ลงทุนอย่างไร หาก El Niño กลับมา

ในครึ่งปีหลังแรงกดดันของเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ และทาง LH Bank Advisory พบว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น หลังสภาพอากาศในปี 2023 กำลังเปลี่ยนผ่านจากลานีญา (La Niña) เข้าสู่เอลนีโญ (El Niño) ที่ถูกประเมินว่าอยู่ยาวไปอีก 3 ปี และมีความรุนแรงมากกว่าในอดีตที่โลกเคยประสบ ทั้งนี้ผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ่ คือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นและแล้งจัด ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพืชพันธุ์การเกษตรที่พึ่งพาน้ำ อย่าง อ้อย จนสร้างผลกระทบไปยังอุปทานน้ำตาลโลกปรับลดลง เป็นเหตุให้ในเวลานี้ ดัชนีราคาน้ำตาลโลกอยู่ในระดับ 149.6 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 2016

ด้วยความน่าสนใจของแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกที่อยู่ในระดับสูง ย่อมสร้างอานิสงส์ให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลได้รับประโยชน์ก็จริงอยู่ แต่ตามรายงานจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ได้บ่งชี้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่ สร้างความเสียหายแก่ อินเดีย ให้เผชิญภัยแล้งที่รุนแรง ซึ่งอินเดียก็เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก นั้นจึงแสดงถึงความเสี่ยงภาวะขาดแคลนอุปทานน้ำตาล ขณะที่ทางกลุ่ม Latin America โดยเฉพาะ บราซิล เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลกมีโอกาสที่ได้รับผลกระทบเอลนีโญ่ น้อยกว่าประเทศผลิตน้ำตาลอื่น ครองส่วนแบ่งของโลก 50.6% ในปี 2021 และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญใน 5 อันดับแรกของบราซิล

จากอานิสงส์ของราคาน้ำตาล และสภาพอากาศที่บราซิลอาจรับผลของเอลนีโญ่ไม่รุนแรงเท่าประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรเท่าที่อื่น ๆ ทำให้การลงทุนในบราซิลมีความน่าสนใจ เพราะอุปทานสินค้าทางการเกษตรบราซิลไม่ได้รับความเสียหายจนกลายเป็นปัญหา ซึ่งปริมาณส่งออกสินค้าทางการเกษตรนั้นมากถึง 40% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ซึ่งทาง LH Bank Advisory จึงทำการประเมินถึงศักยภาพการตลาดการลงทุนของบราซิล ในประเด็นทางเศรษฐกิจ

  • ประเทศคู่ค้าของทางบราซิล ที่สำคัญจะเป็นเอเชียซึ่งอุปสงค์มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ จีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของทางบราซิล ขยายตัวได้ถึง 5% ในปี 2023 แม้รายงานปริมาณส่งออกของบราซิลจะลดลง 2.5% MoM ตามการชะลอตัวจากสหรัฐฯ และยุโรป ขณะที่การส่งออกไปจีนพลิกกลับมาเป็นขยายตัว 5.3% MoM
  • ปัญหาเงินเฟ้อของบราซิลมีแนวโน้มคลี่คลาย และธนาคารกลางฯ ไม่มีเหตุผลที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทั้งนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยบราซิลอยู่ที่ 13.75% ได้ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับลงต่อเนื่องเข้าใกล้ระดับเป้าหมาย 3.25% เกิดเป็นสัญญาณของเสถียรภาพด้านราคา และนโยบายการเงิน จึงเอื้อต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดการลงทุน
ด้วยปัจจัยทั้งสองทำให้บัญชีเดินสะพัดของบราซิลกลับมาเกินดุลในเดือนมี.ค. 23 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน กลยุทธ์การลงทุนในบราซิล แนะนำทยอยสะสม ผ่านกองทุนที่มีสินทรัพย์กลุ่มประเทศ BIC (Brazil, India, และ China) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้โดดเด่นกว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ประกอบกับ มูลค่า PE Forward อยู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี

อาหารเช้าเมืองผู้ดีที่แสนแพง

สหราชอาณาจักรเพิ่งผ่านพ้นการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ไปอย่างสมพระเกียรติเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งในเวลานี้สหราชอาณาจักรกำลังถูกจับตามองจากสายตานักลงทุนทั่วโลกสังเกตการณ์ว่าเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่วิกฤตเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อันเป็นผลจากธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจนสู่ระดับ 4.50% จาก 0.25% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ขณะที่ในเวลานี้ระดับอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่า 10% ซึ่งห่างจากเป้าหมายและมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ เพราะแนวโน้มดัชนีราคาอาหารในเดือน เม.ย. พุ่งสู่ระดับ 19.2 จุด ซึ่งสะท้อนปัญหาข้าวยากหมากแพงที่รุนแรงในรอบทศวรรษ โดยเกิดจากปัญหาความขาดแคลนของอุปทาน ซึ่งต้นตอมาจากสหราชอาณาจักรพึ่งพาการนำเข้าอาหารสดถึง 60% ของที่มีในตลาด และคู่ค้าสำคัญที่มีสัดส่วน 47% ของสินค้าทั้งหมดมาจากสหภาพยุโรป เมื่อสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) จนทำให้สูญเสียตลาดปลอดภาษีกับทางยุโรป ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้ารับผลกระทบของภาษีการค้า จากประเด็นดังกล่าวสะท้อนถึงความยากลำบากที่จะแก้ไขปัญหาเงินของสหราชอาณาจักร ขณะที่ปีนี้ปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้ายยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาอาหารปรับสูงขึ้น จนกลายเป็นซ้ำเติมสถานการณ์เงินเฟ้อที่สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญ

ทั้งนี้ด้วยผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและยาวนานกว่าที่คาดนี้ กำลังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรอย่างเห็นได้ชัด และผลักดันให้ภาคเอกชนต้องแบกรับต้นทุนการเงินที่สูงและทำให้กำไรสุทธิของบริษัทฯ ลดลง จึงเป็นเหตุให้บริษัทฯ เริ่มปรับลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะ ลดการจ้างงาน จากรายงานเดือนเม.ย. พบว่าการจ้างงานพนักงานประจำลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบกว่าสองปี ขณะที่พนักงานชั่วคราวทรงตัว ซึ่งสะท้อนถึงความเปราะบางของภาคแรงงานที่อ่อนแอมากขึ้น ทาง LH Bank Advisory มีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร โดยประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2023 หดตัวจนติดลบ 0.3% YoY ขณะเดียวกันยังประสบปัญหากับภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งถือได้ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบ Stagflation

ดังนั้นด้วยแนวโน้มของเงินเฟ้อยังคงบีบบังคับให้บีโออียังคงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้จำเป็นที่สหราชอาณาจักรต้องออกนโยบายทางการคลังเข้ามาเพิ่มสภาพคล่องเพื่อประคับประคองระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร มีโอกาสขยายความเสียหายแก่ดัชนีหุ้นยุโรปอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ กองประเภท ETF ของยุโรป เพราะสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์สหราชอาณาจักร อยู่ในปริมาณที่มีนัยสำคัญ ซึ่งทาง LH Bank Advisory แนะนำนักลงทุนหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในดัชนีหุ้นยุโรป ขณะที่นักลงทุนในระยะยาวสามารถทยอยสะสม เนื่องจากมูลค่าของดัชนียุโรปอยู่ในระดับที่ถูก

Weekly Report 15-05-2023

Announcement on 15 May 2023

Related articles