Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 17-04-2023

Wealth Weekly Report 17-04-2023
 

มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์

จากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ ในส่วนการจ้างงาน ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 54 จุดสู่ 51.3 จุด ทำให้สะท้อนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังสร้างผลกระทบมาถึง ภาคบริการ ทั้งนี้ทาง LH Bank Advisory ได้ทำการประเมินความน่าจะเป็นที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดว่าเป็นไตรมาสที่ 4 ดังนั้นเพื่อให้นักลงทุนสามารถฝ่าวิกฤตที่กำลังมาถึง ทาง LH Bank Advisory ได้คัดเลือกกลยุทธ์ ดังนี้
  1. เตรียมสภาพคล่องให้พร้อมคว้าโอกาส
  2. เสริมความแข็งแกร่งพอร์ต ด้วยตราสารหนี้ที่มีอันดับน่าเชื่อถือที่ดี
  3. สะสมหุ้น Quality Growth และ
  4. เลือกสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งราคาไม่สัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่น
ข้ามฟากมาติดตามการเข้ารับตำแหน่งของประธาน BOJ คนใหม่ ที่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้ออยู่เหนือเป้าหมายที่กำหนด ทำให้เกิดคำถามต่อนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายแบบสุดโต่งของญี่ปุ่นในเวลานี้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทั้งนี้ทาง LH Bank Advisory คาดว่าอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในนโยบายการปรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นขึ้น (YCC)
HOT ISSUE TO WATCH THIS WEEK

ภาคบริการ ตัวแบกเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ภาคบริการของสหรัฐฯ ถือว่าเป็นภาคที่มีความสำคัญมากสุดของเศรษฐกิจ ซึ่งในตลาดแรงงานสหรัฐฯ พบว่าสัดส่วนของแรงงานในภาคบริการคิดเป็น 86% ของสัดส่วนทั้งหมด ขณะที่ในเวลานี้ ทาง LH Bank Advisory พบว่า ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังสร้างความเสียหายครอบคลุมไปถึงภาคบริการ โดยสังเกตุจากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ ในส่วนการจ้างงาน ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 54 จุดสู่ 51.3 จุด จนเป็นเหตุให้การจ้างงานภาคบริการ (ADP Service) เพิ่มขึ้นเพียง 75 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อน
ขณะเดียวกันจากผลกระทบของวิกฤต Bank Run และข่าวการปลดพนักงานในไตรมาสที่ 1 ทำให้จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในสหรัฐฯ ของคนที่ไม่มีรายได้ (Initial Claims และ Continuing Claims) ปรับตัวขึ้นเหนือระดับช่วงก่อนการเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปกติ 

ดังนั้นในเวลานี้ทาง LH Bank Advisory เชื่อว่าตลาดแรงงานกำลังส่งสัญญาณเตือนการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในปี 2023 ที่ชัดเจนมากขึ้น และคาดการณ์ไปว่าหลังจากสิ้นเดือนเมษายน จะมีโอกาสเห็นอัตราการว่างงานสหรัฐฯที่ปรับขึ้นทดสอบระดับ 4% จากระดับต่ำสุด 3.5% 

อย่างไรก็ตามจากปัญหาการว่างงานที่ปรับสูงขึ้น จะส่งผลให้สถานการณ์เงินเฟ้อจากฝั่งค่าจ้างชะลอตัวลง หากแต่มองในภาพรวมปัญหาอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปี 2023 ที่สูงกว่าเป้าหมายยังคงมีอยู่ จึงเป็นไปได้ยากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเปลี่ยนมาดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่มีความเป็นไปได้ที่เฟดเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูง ซึ่งทาง LH Bank Advisory แนะนำให้ใช้จังหวะที่ตลาดฟื้นตัวจากมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ ทำการลดสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯ  โดยเฉพาะ หุ้นกลุ่มเติบโตที่มีความผันผวนสูง และเพิ่มน้ำหนักเข้าสะสมในพันธบัตรและตราสารหนี้ Investment Grade ของสหรัฐฯ ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูง และความผันผวนต่ำกว่าหุ้น หรือใช้เงินทุนเข้าถือครองในตราสารหนี้ระยะสั้น รวมถึงตลาดเงิน เพื่อเตรียมสภาพคล่องให้พร้อมกลับเข้าไปคว้าโอกาสในตอนตลาดปรับฐานแรงอีกครั้ง

ภาคบริการ ตัวแบกเศรษฐกิจสหรัฐฯ

การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่ตลาดคาดไว้ อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต SVB ทำให้ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อรักษาสภาพคล่องและคุณภาพหนี้ที่มีอยู่ในสินทรัพย์ของธนาคาร ให้แข็งแกร่งเพียงพอรับมือกับช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งพิจารณาได้จากรายงานการสำรวจปริมาณสินเชื่อในระบบของ Dallas Fed พบว่า ปริมาณความต้องการสินเชื่อลดลง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จนไปสร้างความเสียหายต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

ทั้งนี้จากการปรับลดลงของปริมาณสินเชื่อในระบบ ได้สะท้อนถึงอุปสงค์จากภาคครัวเรือนและความต้องการลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐที่เป็นสัดส่วนเกือบจะทั้งหมดของเศรษฐกิจ กำลังชะลอตัว จนเป็นเหตุให้ทาง LH Bank Advisory ได้ประเมินว่าปรับประมาณการของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ลดลงจากระดับ 3.47% สู่การเติบโตเพียง 1.7% และทำให้ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2023 หดตัว 0.2%

ซึ่งสมการความน่าจะเป็นที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเวลานี้ได้บ่งชี้ถึง วิกฤตจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดไว้ว่าเป็นช่วงไตรมาสที่ 4 ทำให้สถานการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด พร้อมกับการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นสาเหตุให้ตลาดการลงทุนของสหรัฐฯ กลับมาปรับฐานแรงอีกครั้ง

ดังนั้นเพื่อให้นักลงทุนสามารถฝ่าวิกฤตที่กำลังมาถึง ทาง LH Bank Advisory ได้คัดเลือกกลยุทธ์แก่นักลงทุน ไว้ดังนี้

  1. จัดเตรียมสภาพคล่องให้พร้อมคว้าโอกาส ด้วยสะสมเงินสดในตลาดเงิน (Money Market) หรือ Short Term Fund ซึ่งในเวลานี้จากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยได้รับสูงสุดตั้งแต่ปี 2010
  2. เสริมความแข็งแกร่งพอร์ต ด้วยตราสารหนี้ที่มีอันดับน่าเชื่อถือที่ดี ที่เวลานี้ให้ผลตอบแทนสูง ถึง 5% เข้าพอร์ต ถือเป็นกลยุทธ์ที่ลดความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุน และมีโอกาสสร้างกำไรจากส่วนต่างราคาของตราสารหนี้ เนื่องจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้ทำจุดสูงสุด ก่อนมีการปรับลดลงเพื่อพยุงเศรษฐกิจในยามวิกฤต
  3. สะสมหุ้น Quality Growth โดยหุ้นเติบโตที่มีงบการเงินที่แข็งแกร่ง มีหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สามารถต้านทานกับความผันผวนของตลาด พร้อมกับเป็นหุ้นที่มีปัจจัยสนับสนุนให้รายได้ขยายตัว เพราะอยู่ในกระแสของ Mega Trend 
  4. เลือกสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งราคาไม่สัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่น อย่าง ทองคำ และ กองทุนส่วนบุคคล ซึ่งลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิต ชื่อว่า One-Life Settlement*

ญี่ปุ่นยังคงนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไป

นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ของญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า ญี่ปุ่นเหมาะสมที่จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษไว้ในขณะนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่แตะระดับ 2% ตามเป้าหมายของธนาคารกลาง โดยเขาจะไม่รีบเร่งที่จะลดมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่นี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ว่า ว่า BOJ อาจยุติการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ซึ่งเป็นนโยบายที่จำกัดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับศูนย์ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นการบิดเบือนตลาดและกระทบต่ออัตรากำไรของธนาคาร ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของค่าจ้างที่ซบเซามานานของญี่ปุ่นกำลังแสดงสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง โดยแตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปีที่ 4.2% ในเดือนมกราคม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงสูงกว่า 3% เนื่องจากบริษัทจำนวนมากขึ้นราคาเพื่อตอบสนองต่อต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

มาตรการ YCC เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางการเงินเชิงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ BOJ นำมาใช้เพิ่มเติมนับตั้งแต่ปี 2016 แทนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย YCC ธนาคารกลางสามารถเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ไม่จำกัดจำนวน เพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้อยู่ในกรอบที่ต้องการ โดย BOJ ได้กำหนดกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งสะท้อนต้นทุนการกู้ยืมระยะยาว ให้อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียง 0% ควบคู่กับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นติดลบที่ -0.1% เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการบริโภค ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งให้ญี่ปุ่นออกจากภาวะเงินฝืดที่เผชิญมามายาวนานหลายทศวรรษ 

LH Bank Advisory คาดว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ เนื่องจากความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกของญี่ปุ่น ดังนั้นการที่ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จึงมีความเป็นไปได้ต่ำ นอกจากนั้นแล้วค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อชดเชยครัวเรือนสำหรับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่ได้เสนอการปรับขึ้นค่าจ้างเกือบ 4% ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วที่สุดในรอบสามทศวรรษ ทำให้ BOJ จะยังคงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ ซึ่งมีแรงกดอยู่แล้วทั้งจากต้นทุนสินค้าและค่าแรงสูง LH Bank Advisory ยังคงมีมุมมองเป็นกลางต่อการลงทุนในญี่ปุ่น

MARKET EVENT AND VALUATION

Weekly Report 17-04-2023

Announcement on 17 April 2023

Related articles