Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 23-10-2023

Wealth Weekly Report 23-10-2023
 

Fallout From Geopolitical Shocks
  • จาก Earning Yield Gap ของดัชนี S&P500 เมื่อเทียบกับ Bond Yield 10 ปี ปรับตัวแคบลงมาอยู่ที่ระดับ 0.2% บ่งชี้ว่าการลงทุนใน S&P500 ให้ผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง จึงยากที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะสามารถเบรคจุดสูงสุดเดิมในเดือนม.ค. 2022 ได้ อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่ามีโอกาสที่จะเกิดภาพการฟื้นตัวระยะสั้นของตลาดในช่วงที่ภาพใหญ่กำลังเป็นขาลงจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและเงินเฟ้อที่ชะลอตัว อีกทั้งการที่ Bond Yield ยังคงอยู่ในระดับสูงและจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะสนับสนุนให้เฟดอาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดหุ้นโลก จึงถือเป็นโอกาสในการ Buy on dip
  • ภายใต้การเกิด Inverted Yield Curve ควบคู่กับการเกิด Bear Steepening Yield Curve  ในเวลานี้ บ่งชี้ว่าFed จะไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก และหากพิจารณาข้อมูลในอดีตพบว่าเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวจะตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่การระบุช่วงเวลาว่าเกิดเศรษฐกิจถดถอยทำนายยาก อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐยังอยู่ในช่วง Higher for Longer  ดังนั้นการจัดพอร์ตตราสารหนี้แบบผสมผสานระหว่างตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวจึงน่าสนใจ
  • นักลงทุนกังวลต่อสงครามกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล คือ จะยื้อเยื้อและบานปลายเป็นสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าสงครามมีโอกาสยืดเยื้อได้ แต่ไม่ลุกลามและบานปลาย ขณะที่คู่ขัดแย้งจำกัดเพียงอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส อย่างไรก็ตาม ภาวะสงครามครั้งนี้ส่งผลเชิงลบโดยตรงต่อตลาดหุ้นเอเชีย จนทำให้เกิดการปรับฐาน ดังนั้นถือเป็นโอกาสที่ทางเราแนะนำเข้าลงทุนดัชนีตลาดหุ้นอินเดียที่เศรษฐกิจมีการเติบโตสูงในอนาคต ขณะที่นักลงทุนเก็งกำไรสามารถลงทุนในน้ำมัน Brent กรอบ 87-100 $/Barrel

TOPIC FOCUS

Buy on Dip

จากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบที่อยู่ในพื้นที่จำกัด และไม่ได้กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกมากนัก อย่างไรก็ตาม อิสราเอลถือเป็นผู้ผลิตด้านเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก หากสงครามยืดเยื้ออาจกระทบห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ และต้องติดตามสถานการณ์ความรุนแรงจะบานปลายไปสู่สงครามในภูมิภาคหรือไม่ โดยหากสงครามขยายวงไปสู่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อย่างอิหร่าน อาจทำให้ฝั่งสหรัฐฯมีการคว่ำบาตรเพิ่มเติม จึงเพิ่มโอกาสที่ราคาน้ำมันจะสามารถยืนราคาในระดับสูงได้ในปีนี้ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นโลกมีโอกาสฟื้นตัวได้จากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มจำกัด อีกทั้งจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บ่งชี้ว่ากรรมการเฟดส่วนหนึ่งสนับสนุนให้ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเปลี่ยนจุดโฟกัสในด้านการตัดสินใจนโยบายการเงินจากการพิจารณาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปอีกเท่าไรเป็นการคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงอีกนานแค่ไหน ประกอบกับการปรับฐานของตลาดหุ้นโลกได้สะท้อนสัญญาณของเฟดที่ Hawkish ไปมากแล้ว

เมื่อพิจารณาส่วนต่างระหว่างดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ (ISM Manufacturing New Orders) และดัชนีสินค้าคงคลัง (ISM Manufacturing Inventories) ของสหรัฐฯได้กลับมาเป็นบวก ซึ่งสะท้อนว่าภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสฟื้นตัวในไตรมาส 4 เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน ทำให้เริ่มเห็นการระบายสินค้าคงคลัง (Destocking) ที่ลดลงและกลับเข้าสู่วงจรการเติมสินค้าคงคลัง (Restocking) 

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้น 3.7%YoY และ 0.4%MoM สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 3.6%YoY และ 0.3%MoM ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ปรับตัวขึ้น 4.1%YoY และ 0.3%MoM สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยราคาหมวดที่อยู่อาศัย (Shelter) ซึ่งมีน้ำหนัก 1 ใน 3 ของตะกร้าคำนวณ US CPI ขยายตัว 7.2%YoY และ 0.6%MoM ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขึ้นของตัวเลข CPI อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อโดยรวมยังคงอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง

ภาพรวมของตลาดหุ้นสหรัฐยังเคลื่อนไหวอยู่ในแนวโน้มขาลง ซึ่งจาก Earning Yield Gap ของดัชนี S&P500 เมื่อเทียบกับ Bond Yield 10 ปี ปรับตัวแคบลงมาอยู่ที่ระดับ 0.2% บ่งชี้ว่าการลงทุนใน S&P500 ให้ผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง จึงยากที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะสามารถเบรคจุดสูงสุดเดิมในเดือนมกราคม 2022 ได้ อย่างไรก็ตาม ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่ามีโอกาสที่จะเกิดภาพการฟื้นตัวระยะสั้นของตลาดในช่วงที่ภาพใหญ่กำลังเป็นขาลง (Bear Market Rally) จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและอัตราเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอตัว อีกทั้งการที่ Bond Yield ยังคงอยู่ในระดับสูงและจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะสนับสนุนให้เฟดอาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดหุ้นโลก จึงถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวลง (Buy on dip)

Combining Short-Term Bond with Long-Term Bond

ตั้งแต่เดือนก.ค. 2023 เป็นต้นมานักลงทุนหันมาสนใจตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น เนื่องจากตัวเลขแรงงานออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง รวมถึง IMF ปรับเพิ่ม GDP ของสหรัฐในปี 2024 สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. 2023 ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย เป็นเหตุที่นักลงทุนให้น้ำหนักว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน (Higher for Longer) โดยมองว่าจะเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจแบบไม่รุนแรง (Soft Landing) ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลจาก Fed Dot Plot ให้น้ำหนักในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ ประกอบกับอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาว (Inverted Yield Curve) ส่งผลให้อุปสงค์ในตราสารหนี้ระยะยาวลดลงและเพิ่มอุปสงค์ในตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการถือตราสารหนี้ระยะยาวควรได้ส่วนชดเชยความเสี่ยง (Premium) ส่งผลให้ในปีนี้ตราสารหนี้ระยะสั้นทำผลงานได้ดีกว่าตราสารหนี้ระยะยาว

ในเวลานี้เมื่อพิจารณาภายใต้การเกิด Inverted Yield Curve ควบคู่กับการเกิดอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้น (Bear Steepening Yield Curve) เนื่องจากตลาดคาดว่า ดอกเบี้ยจะเป็น Higher for Longer อย่างไรก็ตามหากพิจารณาข้อมูลในอดีตกว่า 60 ปี บ่งชี้ว่า Fed จะไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้หลังเกิดเหตุการณ์ข้างต้นจาก Figure 4 สะท้อนว่าเมื่อเหตุการณ์ Bear Steepening ที่เกิดขึ้น 15 ครั้ง พบว่ามีเพียง 4 ครั้งที่เกิดขึ้นหลังจาก Inverted Yield Curve และหลังจากนั้นตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เช่น วิกฤต The Great Inflation (1970) และวิกฤต Sub-prime (2007) ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นครั้งที่ 5 แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย เป็นเหตุให้ Fed จึงมีการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนให้หันกลับมาลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อประโยชน์จากราคาปรับตัวสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตามช่วงเวลาในการเกิดเศรษฐกิจถดถอยทำนายยาก ขณะที่ตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังอยู่ในช่วง Higher for Longer ดังนั้นทาง LH Bank Advisory จึงแนะนำให้นักลงทุนจัดพอร์ตตราสารหนี้แบบผสมผสานระหว่างตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว โดยการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ให้ผลตอบสูงในขณะนี้ จะทำหน้าที่สร้างกระแสเงินสดรับ และแบ่งสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยตามที่คาดการณ์จากข้อมูลในอดีต ประกอบกับนักลงทุนมีโอกาสสร้างกำไรด้านราคาจากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว หลังจาก FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อพยุงเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดังนั้นกลยุทธ์นี้สามารถช่วยลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตการลงทุน

Chokepoints: Maritime Economic Concerns in Asia

การโจมตีของกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลซ้ำเติมความเสียหายแก่เศรษฐกิจโลก หลังสงครามรัสเซียโจมตียูเครนไปเมื่อต้นปี 2022 และสิ่งที่นักลงทุนกังวล คือ จะยื้อเยื้อ ลุกลาม และขยายวงกว้าง จนกระทบต่ออิหร่านทำให้มีเหตุเข้าร่วมสงคราม หรือบานปลายเป็นสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งนี้ประเด็นอิหร่านที่ตลาดกังวล เนื่องด้วยอิหร่านครอบครองพื้นที่สำคัญ คือ ช่องแคบฮอร์มุซ หนึ่งในทางเดินเรือที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากที่สุดในโลก เรื่องที่เกิดขึ้นที่นี่จะส่งผลต่อราคาน้ำมันและเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะเส้นทางขนส่งน้ำมันนี้คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก หากปิดช่องแคบฮอร์มุซ (Chokepoints)

LH Bank Advisory ประเมินว่า สงครามมีโอกาสยืดเยื้อได้ แต่ไม่ลุกลามและบานปลาย ขณะที่คู่ขัดแย้งจำกัดเพียงอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส เนื่องจากการสู้รบในครั้งนี้มีความแตกต่างของกำลังทหารของฮามาสและอิสราเอล และการโจมตีของฮามาสถือเป็นการก่อสงครามก่อนและจับตัวประกันที่อุกอาจ และผิดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้การหาพันธมิตรอาจยากลำบากเพราะถือเป็นสงครามที่ฮามาสมีความเสียเปรียบมาก ขณะที่ยังไม่มีหลักฐานว่าอิหร่านคือผู้สนับสนุน หรือมีท่าทีเข้าร่วมกับฮามาส เพื่อสู้รบกับสหรัฐฯ และอิสราเอล 

อย่างไรก็ตาม ภาวะสงครามย่อมสร้างความผันผวนต่อสินทรัพย์การลงทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยพื้นที่สมรภูมิในครั้งนี้อยู่ใกล้แหล่งผลิตน้ำมันที่เป็นแหล่งพลังงานที่เอเชียนำเข้ามากที่สุด จึงทำให้ต้นทุนพลังงานนำเข้าเอเชียปรับสูงขึ้น ซ้ำเติมกับช่วงเวลานี้ที่ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าในระดับสูงที่ 106 จุด ทำให้เอเชียเสี่ยงเผชิญกับภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น และกดดันต่อเสถียรภาพค่าเงินสกุลท้องถิ่น ดังนั้นภาวะสงครามครั้งนี้ส่งผลเชิงลบโดยตรงต่อตลาดหุ้นเอเชียอย่างมาก ทางเราจึงแนะนำนักลงทุนอาจใช้จังหวะที่ปรับฐานเลือกลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง และมีการเติบโตสูงในอนาคต

  • ดัชนีอินเดีย ซึ่งประกาศการเติบโตทางเศรษฐกิจมีศักยภาพขยายตัวถึง 6.3% ต่อปี ต่อเนื่องจากปี 2023 จนถึง 2028 ท่ามกลางระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 6.5% บ่งชี้ว่าเวลานี้การลงทุนของเอกชน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอินเดียยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับทางรัสเซียจึงทำให้ต้นทุนราคาพลังงานนำเข้าของอินเดียมีโอกาสปรับสูงขึ้นแต่ไม่รุนแรงเท่าประเทศเอเชียอื่น ๆ อีกทั้งการวางแผนออกตราสารหนี้ระยะสั้นที่ผลตอบแทนสูงของอินเดีย เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ค่าเงินรูปีมีเสถียรภาพมากกว่าในอดีต
    ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับอานิสงส์จากประเด็นภาวะสงครามที่เกิดขึ้น
  • ราคาน้ำมัน Brent อาจจะต้องเผชิญกับอุปทานที่ตึงตัวมากขึ้น พื้นที่สมรภูมิใกล้แหล่งผลิตและท่าเรือส่งออกน้ำมัน โดยเฉพาะใกล้กับพื้นที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเดิมที ซาอุฯ ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในเวลานี้ทำให้นักลงทุนที่สามารถจับจังหวะลงทุน และชื่นชอบน้ำมัน สามารถเก็งกำไร โดยมีกรอบราคา (Brent Spot) 87-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอาจมี upside เพิ่มขึ้นจากที่เราประเมินอย่างน้อย 10-20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
  • สินทรัพย์หลบภัย (Safe Haven) อย่างทองคำ สามารถรองรับบรรยากาศในตลาดการเงิน (Risk Sentiments) ซึ่งในเวลานี้ ทางเราประเมินว่า ราคาเริ่มรับรู้ข่าวไปมาก และถ้าไม่มีสถานการณ์ที่รุนแรงอาจเสี่ยงมีแรงขายทำกำไร จึงเป็นเหตุให้ราคาทองผันผวนสูง

Weekly Report 23-10-2023

Announcement on 23 October 2023

Related articles