Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 08-04-2024

Wealth Weekly Report 08-04-2024
 

จังหวะการลงทุนท้าฤดูร้อน
  • กลยุทธ์การลงทุนเดือนเม.ย. อยู่ในบรรยากาศ “เศรษฐกิจเติบโตได้ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ที่สูงขึ้น” การลงทุนในตราสารทุน แนะนำ KT-WEQ-A มีกองทุนหลัก AB Low Volatility Equity Portfolio ความผันผวนต่ำ สำหรับตราสารหนี้ มองว่า ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นยังคงโดดเด่น เพราะไม่มีสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนนี้ ด้วยกองทุน ABGFIX-A ซึ่งเป็นตราสารหนี้อายุน้อยกว่า 2 ปี มีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจ จึงได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ หลังส่วนต่าง Bond Yield ของ สหรัฐฯ และไทยกว้างขึ้น
  • ดัชนี Nikkei 225 เริ่มมีแรงขายเพื่อล็อคกำไร ซึ่งทางเราได้ปรับลดมุมมองตลาดหุ้นญี่ปุ่นจาก Slightly Overweight เป็น Neutral เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนเนื่องจากสัญญาณที่ราคามีภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) และความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการร่วงลงของค่าเงินเยนที่กำลังเผชิญกับการเก็งกำไรจากการคาดการณ์ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ เป็นการขึ้นครั้งเดียวและไม่ขึ้นต่อ ทางเราจึงแนะนำให้ทยอยขายทำกำไร เนื่องจากความผันผวนที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2024
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (NBS Manufacturing PMI) ของจีนในเดือน มี.ค. ออกมาอยู่เหนือระดับ 50 จุด ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน รวมถึงการส่งออกเริ่มฟื้นตัวจากปี 2023 บ่งชี้การผลิตของจีนฟื้นตัว  ส่งผลให้ Forward EPS ปี 2024 ปรับขึ้น 14% เทียบกับปี 2023 อีกทั้งความเสี่ยงด้านภาคอสังหาฯ เริ่มบรรเทาลง จากราคาบ้านเริ่มฟื้นตัว และ Default Rate ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ Valuation หุ้นจีนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นทางเราจึงมองว่าตลาดหุ้นจีนส่งสัญญาณฟื้นตัว

TOPIC FOCUS

Bond Yield เกือบหลับแต่กลับมาได้

เครื่องมือนโยบายอัดฉัดสภาพคล่องสู่ระบบ (QE) เป็นเครื่องมือสู้กับวิกฤตหลายครั้ง และรวมถึงวิกฤต Covid-19 ทั้งนี้อย่างที่ทราบกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ยกเลิก QE ไปแล้ว หลังเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวและเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น แต่หากพิจารณานโยบายจากฝั่งการคลังอาจไม่ใช่แบบนั้น ทาง LH Bank Advisory มองว่า Inflation Reduction Act. ได้ให้เงินสนับสนุนภาคธุรกิจ และทุ่มงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แม้มีอุปสรรคขอขยายเพดานหนี้หลายครั้ง แต่สามารถผ่านพ้นได้นั้น จึงหมายความว่าเวลานี้ไม่ใช่ Fed ที่ใส่สภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน แต่เป็นการขาดดุลของรัฐบาลที่สนับสนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว และทำให้เกิดการระดมทุนผ่านการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวน 7.76 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา และจำนวน 8.16 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1 ปี 2024 โดยมีประธาน Fed ที่ทำเหมือนพนักงานขายที่ดึงดูดอุปสงค์ฝั่งนักลงทุนให้เข้าร่วมประมูลพันธบัตร ด้วยการแสดงท่าทียืนยันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรมีความน่าสนใจ และเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดของวัฏจักร จนเป็นเหตุให้กองทุนและชาวต่างชาติ เข้ามาถือครองพันธบัตรมากถึง 76% และ 14% ของพันธบัตรที่ออกขายทั้งหมด 

ในอีกมุมมองการดำเนินนโยบายอัดฉีดเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง บ่งชี้จากรายงานดัชนีฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการอยู่เหนือ 50 จุด สะท้อนภาพขยายตัวของกิจกรรมการผลิตสหรัฐฯ และทางกลับกันนโยบายดังกล่าว กลายเป็นเชื้อเพลิงแก่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ อีกด้วย โดยแสดงหลักฐานในรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) กับตัวเลข PCE ใน Fed’s Projection พบว่า PCE ที่รายงานไม่ได้ปรับตัวต่ำกว่า Projection และเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ขณะที่ Core PCE ยังห่างจากเป้าหมาย ดังนั้นเวลานี้ค่าความน่าจะเป็นของการปรับลดดอกเบี้ยลดลง สะท้อนผ่าน Fed Watch Tool มองว่า เดือนมิ.ย.ตลาดประเมินโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง 54.3% ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนเดือนเม.ย. จะอยู่ในบรรยากาศ เศรษฐกิจเติบโตได้เล็กน้อยท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ที่ยืนในระดับสูง

กลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุน : ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยาย สอดคล้องกับการปรับประมาณรายได้บริษัทฯ ในไตรมาส 1 ของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับ AI ปรับประมาณกำไรขึ้น 21%YoY ทำให้ทางเราเห็นโอกาสลงทุนระยะสั้นในตลาดหุ้นคุณค่าของสหรัฐฯ และโลก ที่มีความผันผวนต่ำ เพื่อรองรับแรงกดดันจาก Bond Yield ที่สูงขึ้น อย่าง กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ อิควิตี้ (KT-WEQ-A) กองทุนรวมประเภท Feeder Fund ที่มีนโยบายการลงทุนในกองทุนหลัก AB Low Volatility Equity Portfolio ชนิด Class I (USD) ที่เน้นหุ้นโลกสไตล์ Defensive พร้อมทั้งกระจายการลงทุน โดยหุ้น 10 ตัวแรกมีน้ำหนักเพียง 27.54% ของพอร์ต

กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ : ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นยังคงโดดเด่น เพราะไม่มีสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนนี้ และมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed ยืนอยู่ในระดับสูง ด้วยกองทุน กองทุนเปิด อเบอร์ดีน โกลบอล เอนแฮนซ์ ฟิกซ์ อินคัม (ABGFIX-A) ซึ่งเป็นพอร์ตตราสารหนี้คุณภาพดี อายุไม่เกิน 2 ปี นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจ และปัจจุบันเป็น Unhedge ดังนั้นได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ หลัง Bond Yield สหรัฐฯ ออกห่างจากไทยมากขึ้น

TOPIC FOCUS

Very Close to Yen Intervention

ค่าเงินเยนอ่อนค่าใกล้แตะระดับ 152 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ญี่ปุ่นเคยเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ปี 2022 แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม -0.1% ขึ้นมาเป็นระดับ 0%-0.1% พร้อมยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) แต่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป 

ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงย่อมส่งผลดีต่อการส่งออก แต่สร้างแรงกดดันต่อราคาพลังงานและการนำเข้าอื่นๆ ของญี่ปุ่น ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ขณะที่เป้าหมายของ BOJ คือการบรรลุระดับเงินเฟ้อที่ 2% อย่างยั่งยืนผ่านการเติบโตของค่าจ้างและกำลังซื้อของครัวเรือน กลับกลายเป็นอัตราเงินเฟ้อที่กดดันจากต้นทุนการนำเข้า ซึ่งท้ายที่สุดอาจสร้างแรงกดดันให้ BOJ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในระยะถัดไป

นอกจากนี้ BOJ ได้ยุติการซื้อกองทุน ETF และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น (J-REITs) ซึ่งเป็นนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ดี BOJ จะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อไปตามความเหมาะสม และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับเกณฑ์ใหม่ของ NISA (Nippon Individual Saving Account) คือบัญชีพิเศษที่ยกเว้นภาษีจากผลกำไรที่ได้จากการลงทุนในหุ้นและกองทุน โดยมีการเพิ่มวงเงินที่สามารถลงทุนได้เป็น 3.6 ล้านเยนต่อปี ซึ่งช่วยลดความผันผวนของตลาดทุนได้ในระดับหนึ่งและเป็นการส่งเสริมครัวเรือนญี่ปุ่นที่ถือครองเงินสดประมาณครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ให้เปลี่ยนเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น

ส่วนประเด็นที่ว่าหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นสูงกว่า 260% ของ GDP จะเป็นข้อจำกัดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าภาระค่าใช้จ่ายประกันสังคมเนื่องจากประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมากจะส่งผลให้เกิดการขาดดุลการคลังจำนวนมาก และอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้สาธารณะได้ อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบโดยพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP เพียงอย่างเดียว ปัจจัยสำคัญที่ถูกมองข้ามคือระดับสินทรัพย์โดยรวม ซึ่งบ่งชี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้คงค้างของประเทศ ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากระดับหนี้สินสุทธิ หมายถึงหนี้สินลบด้วยสินทรัพย์ พบว่าหนี้สินสุทธิของญี่ปุ่นเหลือเพียง 120% ของ GDP ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง 

ทั้งนี้ หลังจากดัชนี Nikkei 225 ทะลุระดับ 40,000 จุดและปรับตัวขึ้นกว่า 20% ตั้งแต่ต้นปี เริ่มมีแรงขายเพื่อล็อคกำไร ซึ่งทาง LH Bank Advisory ได้ปรับลดมุมมองตลาดหุ้นญี่ปุ่นจาก Slightly Overweight เป็น Neutral เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนเนื่องจากสัญญาณที่ราคามีภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) และความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการร่วงลงของค่าเงินเยนที่กำลังเผชิญกับการเก็งกำไรจากการคาดการณ์ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ เป็นการขึ้นครั้งเดียวและไม่ขึ้นต่อ ทางเราจึงแนะนำให้ทยอยขายทำกำไร เนื่องจากความผันผวนที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2024

TOPIC FOCUS

เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว ตลาดหุ้นกลับขา

ดัชนีตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นมากว่า 10% นับตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับแรงหนุนจาก Sentiment ตลาดหุ้นโลก ประกอบกับตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มมี Valuation ที่ตึงตัว ส่งผลให้มีแนวโน้มที่นักลงทุนมองหาตลาดที่มี Valuation ค่อนข้างน่าสนใจกว่า และมีโอกาสสร้าง Upside ที่สูงกว่า ดังนั้นทางเราจึงมองว่าหนึ่งในตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจคือตลาดหุ้นจีน

เนื่องจากภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนโยบายการเงินที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัดฉีดเงินกว่า 2.89 แสนล้านหยวน ผ่านการปล่อยสินเชื่อระยะสั้น 1 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องนับว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อสูงสุดในรอบ 3 ปี​ รวมทั้งนโยบายการคลังที่ออกมาอุดหนุนทั้งในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อคลี่คลายปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาจะไม่ได้มีนโยบายแบบ “บาซูก้า” อย่างไรก็ตามทางเราประเมินว่านโยบายที่ออกมาเพียงพอให้เศรษฐกิจและตลาดทุนสามารถฟื้นตัวได้

ด้วยเหตุนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (NBS Manufacturing PMI) ในเดือน มี.ค. ออกมาที่ 50.8 จุด สูงกว่าคาดการณ์และสูงกว่าเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่า 50 จุด ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 2023 สะท้อนว่าการผลิตของจีนมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ในระยะ 6 – 12 เดือนข้างหน้า อีกทั้งการส่งออกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้คาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (Forward EPS) เพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับปี 2023 ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมของจีนส่งสัญญาณกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ในทำนองเดียวกันด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวโดยข้อมูลจากคณะนักวิจัยด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ของสถาบัน China Index Academy เปิดเผยราคาบ้านใหม่โดยเฉลี่ยใน 100 เมืองในประเทศจีน ในเดือนมี.ค. 2024 เพิ่มขึ้น 0.27%MoM ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 18 เดือน และยอดขายบ้านใหม่ใน 21 เมืองใหญ่โดยเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์นี้ ลดลง 34.5%YoY ซึ่งดีกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ลดลง 45.3%YoY  ประกอบกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีทิศทางที่ดีขึ้นจากอัตราการผิดนัดชำระหนี้ (Default Rate) ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2022 บ่งชี้ปัจจัยกดดันด้านภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มบรรเทาลง

อีกทั้งเมื่อพิจารณา Valuation พบว่า Forward P/E อยู่ในระดับ 9.5 เท่าซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ -1 SD ประกอบกับจาก Figure 2.2 ระดับราคาของตลาดหุ้นจีนอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับปี 2001 เมื่อเทียบกับ MSCI ACWI Index ซึ่งหลังจากนั้นตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ดังนั้นทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าตลาดหุ้นจีนผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และพร้อมปรับตัวเป็นขาขึ้น จึงแนะนำกองทุน UOBSGC ที่ลงทุนในหุ้นกลุ่ม Greater China ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ออกโดยบริษัทที่มีแหล่งรายได้จากประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นต้น

Weekly Report 08-04-2024

Announcement on 08 April 2024

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง