Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 26-02-2024

Wealth Weekly Report 26-02-2024
 

Rare Move
  • จาก US 10Y Bond Yield ทึ่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ทางเรามองเป็นโอกาสในการเข้าทยอยสะสมกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อโอกาสสร้าง Capital Gain จากการลดดอกเบี้ยในอนาคตขณะที่ กนง. ของไทยมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่าง 10Y Bond Yield ของสหรัฐฯ กับไทยกว้างขึ้น กดดันให้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง ดังนั้นกลยุทธ์ Unhedge จะยังคงได้รับประโยชน์จากแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในครึ่งแรกของปี
  • ภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวผนวกกับเศรษฐกิจในประเทศยุโรปที่อ่อนแอลง ส่งผลให้ปีนี้ตลาดปรับลดประมาณการรายได้บริษัทจดทะเบียนลง จนเป็นเหตุให้มูลค่าตลาดหุ้นยุโรปมีความน่าสนใจลดลง อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นยุโรปมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเล็กน้อยรับอานิสงส์การปรับลดดอกเบี้ย โดยเป้าหมาย STOXX Europe 600 อยู่ที่ 500-510 จุด ณ ค่าเฉลี่ย Forward P/E Ratio เฉลี่ย 10 ปี ดังนั้นด้วย Upside เริ่มจำกัดทำให้เรายังคงมุมมองเป็นกลางต่อตลาดหุ้นยุโรป
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวลงในช่วงกลางปี เป็นผลมาจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากการใช้จ่ายทางภาครัฐทำได้ยากด้วยภาวะการเงินตึงตัว อีกทั้งการส่งออกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป จากการกลับทิศนโยบายทางการเงินในอนาคต ส่งผลให้ Yield Spread ของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นมีแนวโน้มแคบลง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนเริ่มทยอย Take Profit ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

 

TOPIC FOCUS

US dollar drifts lower after soft economic data

   หลังการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนม.ค. ที่สูงกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดปรับความคาดหวังเรื่องแนวโน้มดอกเบี้ยทำให้ดัชนี Dollar Index แข็งค่าขึ้นแตะกรอบ 105 จุด โดยจากข้อมูล CME FedWatch Tool คาดว่าเฟดมีโอกาสเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกจากเดือนพ.ค. เป็นเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ตาม Dollar Index เริ่มอ่อนค่าลง หลังการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยยอดค้าปลีกลดลง 0.8%MoM ในเดือนม.ค. จากที่ +0.4% MOM ในเดือน ธ.ค. และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าลดลง 0.1%MoM และการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.1%MoM ขณะที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.3%MoM ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินแนวโน้มและทิศทางของค่าเงิน ดังนี้

● Dollar Index ที่แข็งค่าขึ้นแตะกรอบ 105 จุด ได้สะท้อน (price in) การลดความคาดหวังของตลาดเกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยไปมากแล้ว ขณะที่แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนม.ค. จะสูงว่าคาด แต่ยังอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง และแม้ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ แต่เฟดยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้ Dollar Index มีแนวโน้มอ่อนค่าลง

● แม้ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อ่อนแอเกินคาด จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่า แต่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.9%YoY ในเดือนม.ค. สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 0.6%YoY ตลาดจึงยังคงมองว่า Fed จะเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกไปเป็นกลางปีและลดจำนวนครั้งของการลดดอกเบี้ยจนเข้าใกล้การคาดการณ์จาก Dot Plot ทางเราจึงประเมินว่าการอ่อนค่าของ Dollar Index จะจำกัด โดยคาดว่าในปีนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 100-105 จุด

● จากการที่นักลงทุนมีการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี กดดันให้ US 10Y Bond Yield ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ทางเรามองเป็นโอกาสในการเข้าทยอยสะสมกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวในจังหวะที่ Yield ปรับตัวขึ้น (ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลง) เพื่อโอกาสในการสร้างกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) จากการลดดอกเบี้ยในอนาคต

● ขณะที่ US 10Y Bond Yield ปรับตัวขึ้น สวนทางกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยที่มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หลังมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50%  ซึ่งคาดว่ากนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่าง 10Y Bond Yield ของสหรัฐฯ กับไทยกว้างขึ้น อาจกดดันให้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง

   ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าสู่ระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ ในครึ่งแรกของปีนี้ ดังนั้นกลยุทธ์ ไม่ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Unhedge) จะยังคงได้รับประโยชน์จากแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในครึ่งแรกของปี และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจาก Hedging cost ในปัจจุบันที่สูงกว่า 3% อย่างไรก็ตามจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนและสำหรับการลงทุนในระยะยาวแนะนำกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge)

เส้นทางวิบากของ STOXX Europe 600

   ตลาดหุ้นยุโรป (STOXX Europe 600) เป็นหนึ่งในตลาดที่ Outperform ตั้งแต่เปิดปีมา เนื่องด้วยรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียนออกมาสดใส จากแรงหนุนของรายได้ฝั่งต่างประเทศ โดยบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่ผลักดันตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น ได้แก่ Novo Nordisk บริษัทผลิตยาอินซูลีน, LVHM สินค้าแบรนด์เนม และ L’Oreal สินค้าอุปโภค เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขทางเศรษฐกิจกลับยังคงอ่อนแออย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนจาก Leading Economic Index (LEI) หรือ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ในเดือนม.ค. ปรับตัวลงร้อยละ 0.8 สู่ระดับ 100.4 (ฐานปี 2016=100) เป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ ธ.ค. ที่ลงมาร้อยละ 0.7 ขณะที่เส้นความเคลื่อนไหวเฉลี่ย 6 เดือนของ LEI ได้ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจยุโรปอยู่ในช่วงภาวะถดถอย ซึ่งปัจจัยฉุดที่กดดัน LEI มาจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต ท่ามกลางแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยุโรปที่ปรับตัวลงสู่กรอบเป้าหมายที่ 2%

   ดังนั้นทาง LH Bank Advisory มองว่ามีโอกาสค่อนข้างมากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยก่อนทางธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แม้ว่าก่อนหน้านี้ทาง ECB จะประกาศดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยตามหลัง Fed ก็ตาม ทั้งนี้ทางเราประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยุโรปกำลังเข้าสู่จุดต่ำสุดของช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจ (Through) ไว้ดังต่อไปนี้

1.สินค้าคงคลังปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เหล่าผู้ประกอบการเร่งระบายสินค้าคงคลัง (Destocking) ซึ่งเป็นเหตุให้คำสั่งซื้อใหม่หดตัวลง และส่งผลต่อเนื่องไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการผลิตให้ชะลอตัวตาม หากพิจารณาสัดส่วนสินค้าคงคลังต่อยอดขายจากรายงานไตรมาส 4 พบว่า ภาพรวมสัดส่วนดังกล่าวปรับตัวลง 60 bps. จาก 30 bps. ยกเว้น กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์กับกลุ่ม Material ที่สัดส่วนดังกล่าวไม่ปรับตัวลดลงเลยในครึ่งปีหลัง โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวภาคการผลิตของโลก

2.แนวโน้มการชะลอตัวของเงินเฟ้อ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าจ้างปรับตัวลดลง ตาม Figure 4 การชะลอตัวของอัตราการเติบโตค่าจ้างส่งผลเชิงลบกับอุปสงค์ของผู้บริโภค และกดดันยอดขายของสินค้าและบริการปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันเหล่าบริษัทจะพยายามรักษากำไรของบริษัทฯ จึงมีโอกาสได้เห็นการเลิกจ้างงานตามมา ทำให้อัตราว่างงานเสี่ยงปรับสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 6.43% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 20 ปีที่ระดับ 9%

3.ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว จากประมาณการ World Bank ปรับลด GDP โลกจากปี 2023 ที่ระดับ 2.6% เหลือ 2.4% ในปี 2024 ส่งผลให้แนวโน้มของรายได้จากต่างประเทศปรับลดลงตาม ซึ่งในปี 2021 สัดส่วนรายได้ต่างประเทศคิดเป็น 53% ของรายได้บริษัทจดทะเบียนใน STOXX Europe 600

   ด้วยปัจจัยข้างต้นนี้บ่งชี้ภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวผนวกกับเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอลง ส่งผลให้ปีนี้ตลาดปรับลดประมาณการรายได้บริษัทจดทะเบียนของยุโรป จนเป็นเหตุให้มูลค่าตลาดหุ้นยุโรปมีความน่าสนใจลดลง อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นยุโรปมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเล็กน้อย โดย STOXX Europe 600 มีแนวต้าน 500-510 จุด ณ ค่าเฉลี่ย Forward P/E Ratio เฉลี่ย 10 ปีที่ 14.46x จากอานิสงส์ของสภาพคล่องในระบบที่มากขึ้น หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB ดังนั้นด้วย Upside ของตลาดหุ้นยุโรปที่เริ่มจำกัดทำให้เรายังคงมุมมองเป็นกลางต่อตลาดหุ้นยุโรป และแนะนำรอจังหวะขายทำกำไรตามระดับแนวต้าน

Japan's Nikkei hits 34-year peak, signals to limit upside
 

   ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 34 ปี สวนทางกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่หดตัว โดย GDP ปรับตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยหดตัว 0.4% ในไตรมาส 4 ปี 2023 และหดตัว 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า บ่งชี้การเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งเหตุมาจากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนในภาคเอกชนหดตัวลง อีกทั้งยังพบกับข้อบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะปรับตัวลงดังนี้

● การบริโภคภายในประเทศยังมีแนวโน้มปรับตัวลง เนื่องจากอัตราค่าจ้างที่แท้จริงยังคงปรับตัวลง จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากช่วงที่เกิดโรคระบาด ในขณะที่การเติบโตของค่าจ้างปรับตัวขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า ส่งผลให้อัตราค่าจ้างที่แท้จริงยังคงติดลบ อีกทั้งจากโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ พบว่าวัยแรงงาน (อายุ 15 - 64 ปี) และวัยเด็ก (อายุ 0 - 14 ปี) ที่จะเติบโตเป็นวัยแรงงานในอนาคตมีสัดส่วนลดน้อยถอยลง ดังนั้นแม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานจะลดลงต่ำกว่าในอดีต แต่ไม่ได้สะท้อนกำลังการผลิตของประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่นปรับตัวลง 2.9%MoM ในเดือน ธ.ค. 2023 บ่งชี้การจับจ่ายใช้สอยของคนญี่ปุ่นลดลง ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง

● การกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐยังถูกกดดันจากภาวะการเงินตึงตัว เนื่องจาก Debt to GDP ของญี่ปุ่นอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 263.9% ในปี 2022 เนื่องจากการใช้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) โดยการซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาครัฐถูกกดดันจากภาวะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัว

● การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวลงในช่วงกลางปี 2024 เนื่องจากมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายทางการเงินของ Fed หรือ BoJ ซึ่งหาก Fed ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือ BoJ ยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายพิเศษ จะส่งผลให้ Yield Spread แคบลง เป็นเหตุให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และจาก Figure 5.2 พบว่าเมื่อเงินเยนแข็งค่า มักส่งผลให้การส่งออกลดลง อีกทั้ง Figure 6.2 พบว่าประเทศที่ญี่ปุ่นมีการส่งออกสุทธิมากที่สุดคือสหรัฐฯ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงด้านค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์จึงค่อนข้างมีนัยสำคัญ

   อย่างไรก็ตามทางเรามองว่าดัชนี Nikkei 225 ที่ขึ้นมาทดสอบจุดสูงสุดเดิมเมื่อปี 1989 ยังพอมี Upside ในช่วงนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวลง จากแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของ BoJ อาจเลื่อนออกไป และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลง แต่ยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ Fed เป็นเหตุให้ Fed มีแนวโน้มในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าช้ากว่าที่นักลงทุนคาด ประกอบกับ Earning ของหุ้นญี่ปุ่นในปี 2024 คาดจะปรับตัวสูงขึ้น 21%ส่งผลให้ Fund Flow ยังคงไหลเข้าหุ้นญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นญี่ปุ่น  อย่างไรก็ตามทาง LH Bank Advisory มองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงกลางปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในเชิงลบ อีกทั้งเมื่อพิจารณา Valuation พบว่าอยู่ในระดับค่อนข้างแพง จาก Forward PE อยู่ที่ระดับ 22 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ระดับ 20 เท่า ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้เริ่มทยอย Take Profit หุ้นญี่ปุ่น

Weekly Report 19-02-2024

Announcement on 19 February 2024

Related articles