Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 28-08-2023

Wealth Weekly Report 28-08-2023
 

SECOND WAVE
  • การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ในรูปแบบผสมกับขั้วอำนาจเดิมและมีนายกชื่อ คุณเศรษฐา ทวีสิน นำทัพผลักดันนโยบายที่โดดเด่น อย่าง การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่คาดว่าจะออกภายในครึ่งปีแรก 2024 ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินว่า โครงการดังกล่าวอาจจะมีความล่าช้าจากหลายประเด็น จึงคาดการณ์ต่อว่า ระหว่างรอโครงการแจกเงินดิจิทัลนี้ มีโอกาสที่จะได้เห็นนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านรูปแบบนโยบายเดิม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำ ให้มีแนวโน้มสดใสขึ้น จึงแนะนำสะสมกลุ่มหุ้น Domestic Play พร้อมทั้งรับอานิสงส์จาก Fund Flow กลับเข้าลงทุนในไทย หลังมีเสถียรภาพทางการเมือง
  • LH Bank Advisory ประเมินว่าความตึงตัวของตลาดแรงงาน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และราคาอาหารจะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะส่งผลให้เฟดอาจต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อไป อย่างไรก็ตาม เรามองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำลังพักฐานและมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ สามารถเทรดในระยะสั้น โดยมีแนวรับของ S&P500 บริเวณ 4,200 จุด สำหรับการลงทุนในระยะยาว ยังคงแนะนำทะยอยสะสมตราสารหนี้ แม้จะยังไม่ได้รับประโยขน์จากกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) เนื่องจากเฟดยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ แต่จะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยเน้นพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ระดับ Investment Grade ขึ้นไป

TOPIC FOCUS

แจกเงินหมื่นดิจิทัล กระตุ้นฝันเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว

จากรายงานผลผลิตมวลรวมประชาชาติไทย (GDP) ไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาดที่ระดับ 1.8%YoY ทำให้ครึ่งปีเติบโต 2.2%YoY ซึ่งยังห่างไกลกับเป้าหมายที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ตั้งไว้ที่ 3.6% YoY ดังนั้นในครึ่งปีหลังของไทยต้องเติบโตสูงกว่า 4%YoY ต่อไตรมาส เพื่อให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ซึ่งความคาดหวังนี้ตกอยู่ที่รัฐบาลเพื่อไทย กับนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี             

การเมืองไทยมีความชัดเจนมากขึ้นหลังพรรคเพื่อไทย ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลผสมกับขั้วอำนาจเดิมและมีนายกชื่อ คุณเศรษฐา ทวีสิน นำทัพผลักดันนโยบายที่ทางพรรคฯ หาเสียง ทั้งนี้นโยบายที่ทุกคนให้ความสนใจ คือ การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะออกมาใช้ภายในครึ่งปีแรก 2567 โดยใช้วงเงินงบประมาณสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท (หรือ 3% ของ GDP) ซึ่งงบประมาณเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ รัฐบาลเพื่อไทยระบุว่า ได้จากการบริหารระบบงบประมาณและภาษีปี 2567 ประกอบกับการนำเอานวัตกรรม Blockchain เป็นตัวกลางสำคัญที่จะใชกระจายเงินดิจิทัลสู่ แอปวอลเล็ต ตัวใหม่ โดยมีเงื่อนไขดังนี้ ผู้มีสิทธิ์รับเงินอายุ 16 ปี ขึ้นไป มีระยะเวลาใช้งาน 6 เดือน โดยครอบคลุมรัศมี 4 ก.ม. จากที่อยู่ตามบัตรประชาชน 

ทั้งนี้การแจกเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ!? ทาง LH Bank Advisory วิเคราะห์ได้ดังนี้

  1. หากเปรียบเทียบกับโครงการแจกเงินดิจิทัลของประเทศจีนในช่วงกลางปี 2565 ที่มีการแจกเงินหยวนดิจิทัลให้กับประชาชนผ่านแอปวอลเล็ตที่ชื่อว่า e-CNY จำนวน 40 ล้านหยวน (ราว 194 ล้านบาท) เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้จับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากวิกฤต Covid-19 จะเห็นได้ชัดว่าขนาดของโครงการแจกเงินดิจิทัลรัฐบาลฯ มีขนาดใหญ่กว่าของจีนหลายเท่า และคาดหวังผลลัพธ์ต่อขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ทางรัฐบาลฯ ประเมินว่าสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับขนาด GDP ไทยปี 2565 ที่อยู่ 17 ล้านล้านบาท 
  2. แอปวอลเล็ต e-CNY ใช้ Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัล ภายใต้การดูแลของธนาคารกลางจีน (PBOC) ขณะที่เงินดิจิทัลของรัฐบาลฯ ตามข้อมูลล่าสุดเป็นเพียงเหรียญดิจิทัล (TOKEN) ไม่ได้เป็น CBDC ที่ถูกพัฒนาจาก BOT และไม่ใช่เงินบาท (Fiat) ที่มีกฎหมายรองรับในปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลฯ เผชิญกับอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลให้การดำเนินนโยบายดังกล่าวเกิดความล่าช้า (i) ต้องมีการผ่านกฎหมาย หรือ ข้อบังคับมารองรับการชำระราคาเพื่อแลกกับสินค้าและบริการ (ii) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อระบบการใช้งานและมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ (iii) สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานและให้ความรู้แก่ประชาชน และ (iv) จำเป็นต้องมีการจัดสรรงบประมาณมารองรับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต ที่ต้องการแปลงเหรียญดิจิทัล มาเป็นเงินบาท เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องในช่วงแรกที่ระบบเงินดิจิทัลยังไม่ได้มีการใช้ในวงกว้าง

    ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงกังวลว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลฯ อาจไม่สามารถกระตุ้นการจับจ่ายหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้เท่าที่คาด และอาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่านโยบายกระตุ้นการบริโภคที่รัฐบาลในอดีตเคยทำไว้ อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ของโครงการแจกเงินดังกล่าว จะตกแก่บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมถึงอยู่ในหัวเมืองทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยมีความพร้อมด้านศักยภาพจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในการเข้าถึงโครงการได้ทันที 

    อีกทั้งทางเราคาดว่าระหว่างรอโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีโอกาสที่จะได้เห็นนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในระยะสั้นก่อน โดยผ่านรูปแบบนโยบายที่เคยมีมาในอดีต ทั้งช็อปช่วยชาติ และเที่ยวด้วยกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำ อันเป็นผลของช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมือง พร้อมกับเผชิญเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ด้วยเหตุนี้ทำให้การลงทุนในหุ้นไทยมีแนวโน้มสดใสขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 พร้อมทั้งยังได้รับอานิสงส์จาก Fund Flow ไหลเข้าลงทุนในหุ้นไทย หลังมีเสถียรภาพทางการเมือง จึงแนะนำเข้าสะสมหุ้นไทย ด้วยมูลค่าตลาดหุ้นไทยที่น่าสนใจ และเน้นลงทุนในกลุ่ม Domestic Play โดยจาก Figure 1.2 การขยายตัวของ GDP 1% จะส่งผลให้รายได้ธุรกิจเติบโตขึ้น นำมาโดยกลุ่มธนาคาร  และกลุ่มที่ได้ประโยชน์โดยตรง อย่างค้าปลีก สำหรับกองทุนที่โดดเด่น Krungsri Dynamic (KFDYNAMIC) ที่มีการลงทุนในหุ้นใหญ่

Second Wave of Inflation?

ในการประชุม Jackson Hole บ่งชี้ว่าประธานเฟดยังคงให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและความตึงตัวของตลาดแรงงานได้เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ จึงจำเป็นที่จะยังต้องคงนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งหลายสำนักมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อระลอกที่สองอาจกลับมาสร้างปัญหาใหม่ ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อ ดังนี้

  • ตัวเลข Sticky Price CPI Less Shelter ที่ตัดสินค้าหรือบริการที่มีการปรับราคาบ่อยกว่าปกติและตัดราคาที่พักที่อาศัย (Shelter) ได้ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดที่ 6.36% ในเดือนก.ย. 2022 เหลือ 3.77% ในเดือนก.ค. 2023 แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว แต่หมวดที่พักอาศัยยังคงปรับลดลงช้า
  • เงินเฟ้อหมวดราคาที่พักอาศัย ซึ่งมีน้ำหนักมากว่า 40% ในตระกร้าเงินเฟ้อ US Core CPI ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่มีสัญญาณการชะลอตัว โดย Shelter Inflation ชะลอตัวลง 4 เดือนติดต่อกัน และอุปทานที่อยู่อาศัยใหม่จะเข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันให้อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) และค่าเช่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงในที่สุด ประกอบกับงานวิจัยของเฟดสาขาซานฟรานซิสโกพบว่า Shelter Inflation เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีแนวโน้มลดลงและอาจหดตัวในช่วงกลางปี 2024 แสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของที่อยู่อาศัยแล้ว
  • อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องผลักภาระไปยังผู้บริโภค ประกอบกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
  • อีกทั้งการที่รัสเซียไม่ต่ออายุข้อตกลงเปิดทางทะเลดำเพื่อให้ขนส่งธัญพืชออกจากยูเครนได้อย่างปลอดภัย (Black Sea Grain Initiatives) ทำให้จำนวนการขนส่งธัญพืชออกจากยูเครนจะลดน้อยลงมาก ประกอบกับสถานการณ์เอลนีโญและภัยแล้ง ส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นและสร้างแรงกดดันใหม่ให้กับราคาอาหารทั่วโลก

ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะส่งผลให้เฟดอาจต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อไป อย่างไรก็ตาม เรามองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำลังพักฐานและมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ สามารถเทรดในระยะสั้น โดยมีแนวรับของ S&P500 บริเวณ 4,200 จุด สำหรับการลงทุนในระยะยาวยังคงแนะนำทะยอยสะสมตราสารหนี้ แม้จะยังไม่ได้รับประโยขน์จากกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) เนื่องจากเฟดยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ แต่จะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยเน้นพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ระดับ Investment Grade ขึ้นไป อย่างกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ยูเอส แอกกริเกท บอนด์ ฟันด์ (MUBOND-A) ซึ่งเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหุ้นกู้สหรัฐฯ ที่มีคุณภาพสูง

Weekly Report 28-08-2023

Announcement on 28 August 2023

Related articles