ลูกค้าบุคคล > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 19-06-2023

Wealth Weekly Report 19-06-2023
 

มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์

กระแสของ AI จะนำไปสู่ Dotcom Bubble หรือไม่? ในช่วงแรก บริษัทยุค Dotcom ส่วนใหญ่มักใช้กลยุทธ์ยอมขาดทุนต่อเนื่อง เร่งทำการตลาดและโปรโมชั่น เพื่อให้เกิด Network Effect ทำให้นักลงทุนยอมซื้อหุ้นเทคในราคาที่แพงเกินมูลค่าที่แท้จริงและละเลยการประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น ขณะที่กระแส AI ในปัจจุบันได้เข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต (Productivity) และประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของการทำงาน แต่ด้วยราคาหุ้นในกลุ่มนี้ขึ้นมามากแล้ว จนเข้าสู่ภาวะ Overbought ทาง LH Bank Advisory มองว่าจะต้องระมัดระวังการลงทุนในระยะสั้นในหุ้นกลุ่ม และแนะนำใช้เป็นจังหวะในการขาย แต่หากราคายังปรับตัวขึ้นต่อไปก็อาจเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ได้ในอนาคต 1-3 ปีข้างหน้า

อีกตลาดที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา คือ ตลาดหุ้นเยอรมนี ซึ่งในเวลานี้เศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอย กำลังเผชิญแรงกดดันของความพยายามในการควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จนไปเพิ่มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ให้ต้องรับมือกับสถานการณ์ของสภาพคล่องที่ตึงตัว สร้างปัญหาไปที่การชะลอตัวของปริมาณสินเชื่อ ซึ่งบ่งชี้ว่าการลงทุนของภาคธุรกิจปรับตัวลดลง กดดันอัตราเติบโตของรายได้ธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีอย่างเลี่ยงไม่ได้

HOT ISSUE TO WATCH THIS WEEK

กระแส AI ฝ่าด่านทดสอบ

การตื่นตัวของกระแส AI กระตุ้นโดยการเกิดขึ้นของ ChatGPT ส่งผลบวกไปยังผู้ให้บริการ Data Center สำหรับ AI ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ Nvidia (NVDA) ผู้ผลิตชิป GPU ที่มีแรงหนุนจากการเติบโตของเทคโนโลยี AI จนสร้างปรากฎการณ์มีมูลค่าตลาดเกิน $1 Trillion หลังประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และบริษัทได้คาดการณ์รายได้จะเพิ่มจาก 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 1/2023 เป็น 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 2/2023 

เทรนด์ของ AI ทำให้ราคาเปรียบเทียบระหว่าง NASDAQ และ S&P500 ได้ปรับตัวขึ้นทดสอบระดับสูงสุดที่ใกล้เคียงกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ไอที (Dotcom Bubble) ในยุค 1990s โดย AI เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาโดยเปรียบเทียบของระหว่าง NASDAQ และ S&P500 สูงขึ้น และการเปิดตัวของ ChatGPT ได้กระตุ้นให้บริษัทต่างๆ เร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรักษาความเป็นผู้นำและส่วนแบ่งทางการตลาด
คำถามที่น่าสนใจคือ กระแสของ AI จะนำไปสู่ Dotcom Bubble หรือไม่? การเข้ามาของเทคโนโลยี Internet ในช่วงแรก บริษัทยุค Dotcom ส่วนใหญ่มักใช้กลยุทธ์ยอมขาดทุนต่อเนื่อง เร่งทำการตลาดและโปรโมชั่น เพื่อให้เกิด Network Effect และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ทำให้นักลงทุนยอมซื้อหุ้นเทคในราคาที่แพงเกินมูลค่าที่แท้จริงและละเลยการประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น ขณะที่กระแส AI ในปัจจุบันได้เข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต (Productivity) และประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของการทำงาน ทำให้มีความต้องการสูงอย่างมากในชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนา AI อย่าง Semiconductor ที่รวมถึง GPU, Memory และบริษัทที่เกี่ยวกับ Data Center และยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้ อีกทั้งบริษัทที่เป็น Winners อย่าง Nvidia ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นได้สะท้อนจากกำไรและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และระดับมูลค่า (Valuation) ไม่ได้แพงเท่ากับยุค Dotcom

ในยุคที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน (Quantitative Easing) และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทั่วโลก ทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำมาก จึงทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ผลกระทบของเงินเฟ้อและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้ราคาหุ้นโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลง ส่วนการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นเทคในปีนี้ มาจากศักยภาพของ AI ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการผลิต ทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทาง LH Bank Advisory มองว่าจะต้องระมัดระวังการลงทุนในระยะสั้นในหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก AI เนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มนี้ขึ้นมามากแล้ว จนเข้าสู่ภาวะ Overbought ทำให้หุ้นมีโอกาสปรับฐาน จึงน่าจะใช้เป็นจังหวะในการขายมากกว่า และแม้ว่าการทะยานขึ้นของราคาในรอบนี้จะมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการผลิตของ AI และโอกาสในการเติบโตต่อไป แต่หากราคายังปรับตัวขึ้นต่อไปก็อาจเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ได้ในอนาคต 1-3 ปีข้างหน้า

เยอรมนี เข้าสู่ยุคเงินตึงตัว

ผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (Euro Area Interest Rate) ออกมา โดยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีก 25BPS. สู่ระดับ 4% ผนวกกับมาตรการลดขนาดงบดุลจากโครงการ Asset Purchase Programme (APP) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่สูงกว่า 6% ให้เข้าสู่ระดับเงินเฟ้อที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับเป้าหมาย 2%

ซึ่งความต้องการควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะกลายไปเพิ่มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของเยอรมนีที่เข้าสู่ภาวะถดถอยในเวลานี้หรือไม่

หากพิจารณาดัชนีภาวะทางการเงินภาคธุรกิจ (Financial Condition Index) ของยุโรปที่เกิดการตึงเครียดมากขึ้น และมีโอกาสที่มีแนวโน้มหดตัวต่อในเวลานี้ โดยมีสาเหตุจากการลดขนาดงบดุล ในโครงการ APP หรือเป็น Quantitative Tightening (QT) จากทางอีซีบี ซึ่งในเดือนก.ค. ปรับขึ้นอัตราเฉลี่ยเดือนละ 25,000 ล้านยูโร จาก 15,000 ล้านยูโร ทำให้ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่า ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่ออุปสงค์ของตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงเยอรมนี ซึ่งมีการปรับลดลงแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา และสร้างความลำบากในการระดมเงินทุนของสถาบันการเงินและบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินทั้งระบบ จึงเป็นเหตุให้ในเวลานี้ระบบการเงินเยอรมนี เริ่มเห็นอุปทานสินเชื่อของธนาคารที่ปล่อยกู้ลดลง อีกทั้งเพิ่มความเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น โดยสะท้อนจากดัชนีปฏิเสธเอกสารสัญญากู้ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับเดียวกับช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2020

และอีกประเด็น ที่ทาง LH Bank Advisory พบคือ ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2022 ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจ ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด นับเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวภาคการลงทุนของเยอรมนี และสะท้อนถึงการเพิ่มการผลิตสินค้า อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการปรับขึ้นของประมาณการกำไรของดัชนีตลาดหุ้นเยอรมนี แต่ในขณะที่ไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ความต้องการสินเชื่อของเงินกู้ภาคธุรกิจของเยอรมนีกำลังพลิกกลับตัวเข้าสู่ช่วงขาลง หลังผู้ประกอบการเริ่มชะลอการผลิตสินค้าคงคลัง เนื่องจากปริมาณคงเหลือค้างของสินค้าคงคลังไม่สามารถระบายได้ จึงสะท้อนภาพอุปสงค์ตลาดในเวลานี้มีการชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด ซี่งสอดคล้องตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเยอรมนีถดถอย

ดังนั้นในเวลานี้สถานการณ์ของสภาพคล่องที่ตึงตัวในระบบการเงินเยอรมนีที่เลวร้ายลง แนวโน้มการชะลอตัวของปริมาณสินเชื่อในระบบ ซึ่งบ่งชี้ว่าการลงทุนของภาคธุรกิจปรับตัวลดลง กดดันอัตราเติบโตของรายได้ธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ทาง LH Bank Advisory เริ่มเห็นข้อจำกัดการปรับขึ้นของราคาเป้าหมายของดัชนีตลาดหุ้นเยอรมนี จึงแนะนำให้สามารถทยอยขายทำกำไร

Weekly Report 19-06-2023

ประกาศ ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2566

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง