นักลงทุนสัมพันธ์ > ตราสารด้อยสิทธิ
ตราสารด้อยสิทธิ
 

        เป็นตราสารการเงินที่เป็นสัญญาแสดงความเป็นหนี้ระหว่างผู้ออกและผู้ถือตราสารหนี้ (หรือที่เรียกว่า “ผู้ลงทุน”) ซึ่งตราสารหนี้ต้องมีกำหนดอายุและอัตราดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใดเป็นจำนวนที่แน่นอน โดยระบุวันที่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นล่วงหน้าตั้งแต่วันออกตราสารนั้น และในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดอายุ หรือวันไถ่ถอนสามารถซื้อขายโอนเปลี่ยนมือกันได้

          ผู้ออกตราสารหนี้ คือ ผู้กู้เงินจากผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ดังนั้นผู้ออกจึงเป็น “ลูกหนี้” ในขณะที่ผู้ซื้อคือ “ผู้ให้กู้” จึงเป็น “เจ้าหนี้” นั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากตราสารทุนหรือหุ้นสามัญที่ผู้ถือตราสารทุนนั้นจะลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น และมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ ไม่ใช่เป็นเจ้าหนี้

           ตราสารเงินกองทุนที่เรียกว่า "ตราสาร Basel III" หรือบางครั้งที่นิยมเรียกกันว่า "ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ" (Subordinated debt) เริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น การเริ่มปรับเปลี่ยนจาก Basel II มาเป็น Basel III ส่งผลให้สถาบันการเงินทั่วโลกต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มขึ้น บาเซล (Basel) เป็นหลักเกณฑ์สากลที่นำมาใช้ในการกำกับดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการกำหนดเงินกองทุนของสถาบันการเงินให้เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในภาวะวิกฤต เพื่อให้สามารถกำกับดูแลสถาบันการเงินได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 ลักษณะตราสารเงินกองทุน มีระยะเวลากำหนดชำระคืนไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีเงื่อนไขการไถ่ถอน (โดยธนาคารผู้ออก) ได้หลังจาก 5 ปี

คำศัพท์เกี่ยวกับตราสารหนี้
ผู้ออกตราสารหนี้ คือ ธนาคาร บริษัท กระทรวงการคลัง รัฐวิสาหกิจ
ประเภทของตราสารหนี้ แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้องเป็น 2 ประเภท
  1. 1. ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinated bond) คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ถือจะมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ในอันดับหลังจากเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์และเจ้าหนี้สามัญ ในกรณีที่บริษัทผู้ออกตราสารล้มละลายหรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญ ซึ่งจะมีสิทธิเป็นอันดับสุดท้าย
  2. 2. ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior bond) คือ ตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ ในการเรียกร้องให้ชำระหนี้ แต่จะมีสิทธิเรียกร้องสูงกว่าผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ

อายุตราสารหนี้ คือ กำหนดอายุของหุ้นกู้ โดยเริ่มตั้งแต่วันออกตราสารหนี้ถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน

วันออกตราสารหนี้ (Issue date) คือ วันที่เริ่มต้นของการออกตราสารหนี้และเป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ย

วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity date) คือ วันครบกำหนดไถ่ถอนหรือวันหมดอายุ ที่ผู้ออกหุ้นกู้ต้องจ่ายชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้ายคืนแก่ผู้ถือหุ้นกู้

มูลค่าที่ตราไว้หรือราคาพาร์ (Par value) ต่อหนึ่งหน่วยหุ้นกู้ เป็นคุณสมบัติของหุ้นกู้ ที่สามารถแยกเป็นหน่วยย่อยๆ ได้ เพื่อให้สามารถซื้อขายในตลาดรองส่วนใหญ่ราคาพาร์จะเริ่มต้นที่ 1,000 บาทต่อหน่วย และคงที่จนครบอายุของหุ้นกู้นั้นๆ
อัตราดอกเบี้ย (Coupon rate) คือ อัตราผลตอบแทนที่กำหนดตั้งแต่วันที่ออกหุ้นกู้ อาจเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่หรือดอกเบี้ยลอยตัว สำหรับตราสารหนี้กองทุนต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เท่านั้น
งวดการจ่ายดอกเบี้ยต่อปี (Payment frequency) คือ จำนวนครั้งของการจ่ายดอกเบี้ยต่อปี เช่น 3 ครั้งต่อปีหมายถึงจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 4 เดือนหรือ 4 ครั้งต่อปีหมายถึงจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน
อันดับความน่าเขื่อถือของตราสารหนี้ (Bond rating) คือ อันดับเครดิตที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประกาศเพื่อสะท้อนถึงความสามารถของการชำระหนี้ของตราสารนั้นๆ อันดับเครดิตสูงจะสะท้อนถึงความเสี่ยงของการไม่ได้รับชำระหนี้น้อยกว่าตราสารที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่า ดังนั้นตราสารที่มีอันดับเครดิตต่ำจึงต้องเสนออัตราดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า เพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงกว่า

ตราสารหนี้ไม่มีประกัน หมายถึง ตราสารหนี้ที่ไม่ได้จัดให้มีหลักประกันเพื่อการชำระหนี้ตามหุ้นกู้ โดยผู้ถือตราสารชนิดนี้อาจมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สามัญของธนาคารผู้ออกหุ้นกู้ หรืออาจเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีการกำหนดสิทธิ์ของผู้ถือต่ำกว่าเจ้าหนี้สามัญทั่วไป

ตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนก่อนกำหนด คือ ตราสารหนี้ที่ให้สิทธิผู้ออกในการเรียกคืนหรือไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด เงื่อนไขการไถ่ถอนก่อนกำหนดจะถูกระบุในเอกสารสรุปข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้