หากคุณกำลังเผชิญวิกฤติทางการเงิน หมุนเงินไม่ทัน เริ่มรู้สึกจ่ายหนี้บ้านไม่ไหวแต่ไม่อยากผิดนัดชำระ การรีไฟแนนซ์บ้านถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยคุณแบ่งเบาภาระได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมันจะช่วยให้คุณได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง เปลี่ยนประเภทดอกเบี้ย ลดค่างวดรายเดือน หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับรายรับของคุณมากขึ้น
แต่กระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ ทุกขั้นตอนจะต้องผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดจากสถาบันการเงินหรือธนาคารเสียก่อน และ “เอกสาร” ก็คือหัวใจสำคัญที่จะตัดสินว่าการรีไฟแนนซ์ของคุณจะผ่านหรือไม่ การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ถูกต้อง และตรงตามข้อกำหนดของธนาคาร จะช่วยให้กระบวนการอนุมัติราบรื่นขึ้นและลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธ วันนี้เราจึงได้รวบรวมวิธีเตรียมเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านที่ถูกต้องมาให้ทุกคนได้ศึกษากัน โดยจะมีวิธีใดบ้างไปดูกันเลย
เอกสารยื่นรีไฟแนนซ์บ้าน ที่ต้องเตรียม
การรีไฟแนนซ์บ้านไม่ใช่แค่การขอลดดอกเบี้ยหรือเพิ่มวงเงิน แต่เป็นกระบวนการขอสินเชื่อใหม่ทั้งหมด ธนาคารจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้อย่างละเอียด เช่นเดียวกับการขอสินเชื่อครั้งแรก ดังนั้น การเตรียมเอกสารให้ถูกต้องและครบถ้วน จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้รับการอนุมัติเร็วขึ้น ลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธ ซึ่งเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านที่จำเป็น มีดังนี้
1.เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล (ผู้กู้, ผู้กู้ร่วม และคู่สมรส)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ (ผู้กู้และคู่สมรส)
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ผู้กู้และคู่สมรส)
- สำเนาใบทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณบัตร / ใบเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี)
2.เอกสารแสดงรายได้
กรณีผู้ที่มีรายได้ประจำ
- สลิปเงินเดือนฉบับล่าสุดหรือหนังสือรับรองเงินเดือน (ตัวจริง)
- สำเนาบัญชีธนาคาร (Statement) ย้อนหลัง 6 เดือน
- หลักฐานแสดงรายได้พิเศษอื่น ๆ (ถ้ามี)
กรณีธุรกิจส่วนตัว / เจ้าของกิจการ
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล / ทะเบียนการค้า (อายุไม่เกิน 3 เดือน)
- สำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้น (อายุไม่เกิน 3 เดือน)
- สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับ (อายุไม่เกิน 3 เดือน)
- ใบแสดงหักภาษี ณ ที่จ่าย / ใบ ภงด. / ใบ ภพ.30 พร้อมใบเสร็จรับเงิน ย้อนหลัง 6 เดือน (ถ้ามี)
- ใบเสร็จรับเงิน / บิลซื้อขายสินค้า
- รายงานผลการเดินบัญชี (Statement) ย้อนหลัง 6 เดือนล่าสุด (บัญชีบุคคลและกิจการ)
- งบการเงินของกิจการย้อนหลัง 3 ปี (นับจากปีล่าสุด)
- ภาพถ่ายกิจการ (ถ้ามี)
- เอกสารที่แสดงถึงการมีฐานะทางการเงิน / ทรัพย์สิน / ทะเบียนรถ / โฉนดที่ดิน (ถ้ามี)
3.เอกสารทางด้านหลักประกัน
- สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน เช่น
- โฉนดที่ดิน
- หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
- หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง เช่น
- สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน (ท.ด.13)
- หนังสือให้ที่ดิน (ท.ด.14)
- สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย และหลักฐานการชำระเงินดาวน์ (ถ้ามี)
- แผนที่ตั้งหลักประกันโดยสังเขป
4.เอกสารที่อาจถูกร้องขอเพิ่มเติม
- เอกสารประเมินราคาบ้าน: หนึ่งในเอกสารการรีไฟแนนซ์บ้านที่สำคัญเพราะมันคือ รายงานที่ธนาคารใช้ในการพิจารณามูลค่าปัจจุบันของบ้านคุณ จัดทำโดยบริษัทประเมินที่ได้รับการรับรอง รายงานนี้จะช่วยให้ธนาคารทราบว่าบ้านมีมูลค่าเพียงพอสำหรับการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ และกำหนดวงเงินกู้ที่เหมาะสมกับมูลค่าทรัพย์สินจริง
- เอกสารประกันอัคคีภัย: เป็นเอกสารขอรีไฟแนนซ์บ้านที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองบ้านหรือทรัพย์สินจากความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า หรือภัยธรรมชาติบางประเภท โดยธนาคารมักกำหนดให้ผู้กู้ต้องทำประกันนี้ตลอดระยะเวลาของสินเชื่อบ้าน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่บ้านได้รับความเสียหาย และเป็นหลักประกันให้กับธนาคารว่าสินทรัพย์ที่จำนองยังคงมีมูลค่า
- เอกสารภาระหนี้สินปัจจุบัน: เอกสารที่เกี่ยวข้องในกรณีคือ สำเนาหนังสือสัญญากู้เงินและตารางการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านเดิม, สำเนาบัญชีเงินกู้ หรือเอกสารยอดหนี้คงเหลือจากธนาคารเดิม, สำเนาสัญญาสินเชื่อบุคคล หรือสินเชื่ออื่น ๆ (ถ้ามี)
- เอกสารแสดงแหล่งที่มาของเงินดาวน์หรือเงินทุน: กรณีซื้อบ้านใหม่ เช่น สำเนาบัญชีเงินฝากที่แสดงยอดเงินที่ใช้เป็นเงินดาวน์ หรือหนังสือรับรองการให้เงินสนับสนุนจากบุคคลอื่น
- เอกสารแสดงภาระผูกพันอื่น ๆ : เช่น สำเนาสัญญากู้ยืมเงินสินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต หรือสินเชื่อธุรกิจ, หนังสือรับรองภาระผูกพันจากหน่วยงานต้นสังกัด (กรณีข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ)
- เอกสารแสดงรายได้เพิ่มเติม: กรณีมีรายได้จากแหล่งอื่น เช่น สัญญาเช่าทรัพย์สิน พร้อมหลักฐานการรับค่าเช่า, เอกสารเงินปันผลจากหุ้นหรือกองทุน
- หนังสือมอบอำนาจ: กรณีมีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนต้องมีการลงนามและติดอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด
เตรียมเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านอย่างไร ให้กู้ผ่าน
เมื่อคุณทราบแล้วว่าเอกสารที่ใช้รีไฟแนนซ์บ้านนั้นมีอะไรบ้าง ลำดับถัดมา คือขั้นตอนการเตรียมเอกสารยื่นรีไฟแนนซ์บ้านให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการเตรียมเอกสารอย่างถูกต้องจะช่วยลดระยะเวลาการพิจารณาของธนาคาร ทำให้กระบวนการรีไฟแนนซ์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เปรียบเสมือนการสร้างความน่าเชื่อถือให้ธนาคารมั่นใจในตัวคุณนั่นเอง โดยวิธีเตรียมเอกสารที่ดี มีดังนี้
●ตรวจสอบเอกสารรีไฟแนนซ์บ้าน ที่แต่ละธนาคารต้องการ
คุณควรตรวจสอบเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านที่แต่ละธนาคารต้องการให้ดี เพราะแต่ละธนาคารอาจมีข้อกำหนด เงื่อนไข หรือใช้เอกสารที่แตกต่างกันไป แต่หลัก ๆ แล้วจะเน้นการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ ข้อมูลส่วนตัว, สถานะทางกฎหมาย, รายได้, หลักประกัน และเงื่อนไขของสินเชื่อเดิม อาจมีเอกสารเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องศึกษาข้อมูลให้ดีว่าต้องเตรียมอะไรล่วงหน้าบ้าง
●เตรียมเอกสารแสดงรายได้ให้ถูกต้องและครบถ้วน
หากคุณเป็นพนักงานประจำ ควรเตรียมสลิปเงินเดือนล่าสุดและบัญชีธนาคารที่แสดงการฝากเงินประจำ หากเป็นเจ้าของกิจการ ควรเตรียมใบเสร็จรับเงิน, รายงานการเงิน และภาษีที่จ่ายเพื่อแสดงความมั่นคงทางการเงินให้ครบถ้วน
●จัดเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านให้เป็นระเบียบ
การจัดเอกสารยื่นรีไฟแนนซ์บ้านให้เป็นระเบียบจะช่วยให้ธนาคารตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ช่วยลดโอกาสเกิดความผิดพลาดหรือความล่าช้าในการพิจารณาสินเชื่อ หากเอกสารครบถ้วนและเรียงลำดับอย่างเป็นระบบ เช่น เอกสารส่วนตัว รายได้ และหลักประกันอยู่ในหมวดหมู่ที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ธนาคารจะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้กระบวนการอนุมัติสินเชื่อดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มโอกาสได้รับการอนุมัติตามที่ต้องการ
●เตรียมข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด
ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเอกสารทุกชิ้นที่เตรียมให้ธนาคารนั้นเป็นฉบับที่ไม่เก่าเกินไปและไม่มีส่วนไหนขาดหาย เช่น สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองเงินเดือนควรเป็นฉบับล่าสุด และรายการบัญชีธนาคารต้องมีการแสดงข้อมูลย้อนหลัง 6 เดือนเพื่อให้ธนาคารเห็นภาพรวมของการเงิน
●สร้างความน่าเชื่อถือทางการเงิน
การสร้างความน่าเชื่อถือทางการเงินผ่านการจัดเตรียมเอกสารรีไฟแนนซ์บ้าน สามารถทำได้โดยการจัดเอกสารให้เป็นระเบียบและครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารเห็นว่าคุณมีการวางแผนทางการเงินที่ดีและสามารถจัดการหนี้สินได้อย่างเป็นระบบ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมีวินัยทางการเงิน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ธนาคารมองหาก่อนตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ เมื่อคุณแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นแล้วว่าคุณสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา ธนาคารก็อาจจะอนุมัติวงเงินและเสนอเงื่อนไขที่ดีขึ้นแก่คุณ
ข้อควรระวังในการเตรียมเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านที่หลายคนมักมองข้าม
●เอกสารแสดงรายได้ไม่เพียงพอหรือไม่เป็นปัจจุบัน
ธนาคารอาจต้องการเอกสารที่แสดงความสามารถในการผ่อนชำระตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน, หนังสือรับรองเงินเดือน หรือรายการเดินบัญชี (Statement) หากคุณมีรายได้จากหลายช่องทาง อาจต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม เช่น รายการเดินบัญชีที่มีรายรับสม่ำเสมอ หรือหลักฐานการเสียภาษี
●โฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์บ้านมีปัญหา
โฉนดที่ดินต้องอ่านได้ชัดเจน ไม่มีการฉีกขาดหรือชำรุด เพราะธนาคารต้องใช้ในการจำนองใหม่ หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนเจ้าของ, เพิ่มชื่อ หรือขยายพื้นที่บ้าน ควรแจ้งธนาคารล่วงหน้า เพราะอาจต้องใช้เอกสารเพิ่มเติม เช่น หนังสือรับรองการปลูกสร้าง
●สำเนาเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน
เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน และสัญญาเงินกู้เดิม ต้องเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้า บางกรณีอาจต้องใช้เอกสารของคู่สมรส เช่น ทะเบียนสมรสหรือใบหย่า หากกู้ร่วม ควรตรวจสอบว่ามีเอกสารครบทั้งสองฝ่าย และอย่าลืมตรวจสอบวันหมดอายุของเอกสารให้เรียบร้อย (หากมี)
●เอกสารภาระหนี้เดิมไม่ครบถ้วน
ธนาคารต้องตรวจสอบภาระหนี้เดิมก่อนอนุมัติสินเชื่อใหม่ คุณควรเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบ เช่น ใบสรุปยอดหนี้จากธนาคารเดิม, หนังสือสัญญาเงินกู้เดิม หรือเอกสารการชำระหนี้ย้อนหลัง เป็นต้น
วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นเมื่อเอกสารสำคัญสูญหายหรือเสียหาย
●แจ้งหน่วยงานที่ออกเอกสารและขอคัดสำเนาใหม่
หากเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือโฉนดที่ดินสูญหาย ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกเอกสารใหม่ให้เรียบร้อย กรณีหนังสือรับรองเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือนหาย ให้ติดต่อฝ่ายบุคคลของบริษัทเพื่อขอเอกสารใหม่
●แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน
หากเป็นเอกสารที่อาจถูกใช้ในทางมิชอบ เช่น บัตรประชาชน บัตรเครดิต หรือทะเบียนบ้าน คุณควรไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อป้องกันการถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และอาจนำเอกสารแจ้งความไปยืนยันเพื่อขอทำเอกสารใหม่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใช้ประกอบการขอคัดสำเนาโฉนดที่ดิน
●ตรวจสอบว่ามีสำเนาเอกสารเก็บไว้หรือไม่
หากเอกสารสูญหายและไม่สามารถออกเอกสารใหม่ได้ทันเวลา คุณอาจใช้สำเนาเอกสารที่เคยถ่ายเก็บไว้ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย, ไฟล์ PDF หรือสำเนาเอกสารที่มีอยู่แทนไปก่อน เพราะธนาคารบางแห่งอาจยอมรับสำเนาชั่วคราวในระหว่างรอออกเอกสารใหม่ (เงื่อนไขแตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร)
●ขอใบรับรองหรือหนังสือยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หากไม่สามารถขอเอกสารตัวจริงใหม่ได้ทันเวลา อาจต้องติดต่อหน่วยงานที่ต้องใช้เอกสาร เพื่อสอบถามว่ามีทางเลือกอื่นหรือไม่ เช่น ขอหนังสือรับรองหรือเอกสารทดแทนชั่วคราว
การเตรียมเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน จะช่วยลดระยะเวลาการพิจารณาของธนาคาร ทำให้กระบวนการรีไฟแนนซ์บ้านดำเนินไปอย่างราบรื่น สิ่งสำคัญคือคุณต้องอย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดของเอกสารแต่ละประเภทให้ตรงตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด เช่น สำเนาบัตรประชาชน, ทะเบียนบ้าน, สลิปเงินเดือน, โฉนดที่ดินหรือสัญญาจะซื้อจะขาย และหากธนาคารต้องการเอกสารเพิ่มเติม คุณก็ควรรีบดำเนินการให้เรียบร้อย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้รับการอนุมัติเร็วขึ้นพร้อมลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธ
หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังผ่อนบ้านแต่ประสบปัญหาทางการเงิน หมุนเวียนค่าใช้จ่ายไม่ทัน เริ่มชำระหนี้ไม่ไหวแต่ไม่อยากผิดนัดชำระ ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น LH Bank ขอเสนอสินเชื่อ
รีไฟแนนซ์บ้านแสนคุ้มค่า ให้คุณนำเงินก้อนไปไถ่ถอนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินเดิม พร้อมขอวงเงินเพิ่มสำหรับการต่อเติม ตกแต่ง ซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือสินเชื่ออเนกประสงค์ได้ตามต้องการ ด้วยเงื่อนไขพิเศษที่คัดสรรมาแล้วเพื่อทุกคน
สอบถามรายละเอียดสินเชื่อบ้านเพิ่มเติมได้ที่
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทุกสาขา
เว็บไซต์:
www.lhbank.co.th/th/personal/loans/
LH Bank Call Center: 1327
Facebook:
LH Bank
หมายเหตุ:
*หลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นไปตามประกาศและระเบียบที่ธนาคารกำหนด
**กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว